【Bigbeat LIVE ASEAN Vol.1】
การขยายธุรกิจในต่างประเทศของ Retty
– เคล็ดลับในการทำให้ธุรกิจบริการในประเทศไทยที่ไร้เพื่อนฝูงและคนรู้จัก กระทั่งเติบโตจนมีผู้เยี่ยมชม1,000,000UU ต่อเดือน –
“Retty” บริการด้านกูรเมต์แบบใช้ชื่อจริงที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น
ผู้รับผิดชอบ Retty ในประเทศไทย คุณโทโนมุระ ริเอะ ได้ร่วมพูดคุยกับคุณมิยาตะ นาโอเอะ ตัวแทนจากทาง EN Innovation Co., Ltd. เกี่ยวกับการต่อสู้สุดทรหดในการสร้างธุรกิจให้เติบโตจนมีผู้ใช้บริการถึง 1,000,000UU ต่อเดือนในประเทศไทยที่ไร้เพื่อนฝูงและคนรู้จัก
“เอ๊ะ ฉันต้องไปเริ่มธุรกิจในประเทศไทย!?” หลังจบการศึกษาได้ 2 ปีก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับผิดชอบในการขยายกิจการสู่ต่างประเทศ
“Retty” เปิดตัวในรูปแบบเว็บไซต์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2011 ในฐานะบริการเพื่อการค้นหาร้านอาหารตรงใจถูกสไตล์ของตน ผ่านรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านราเมง และร้านกินดื่มอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มกูรเมต์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังมีส่วนส่งเสริมให้ผู้คนได้พบเจอกับร้านใหม่ ๆ รวมถึงเป็นช่องทางให้สมาชิกได้มีโอกาสสนทนาตอบโต้กัน นอกจากการค้นหาแบบทั่วไปแล้ว ยังสามารถติดตามผู้ใช้บริการที่ชื่นชอบและดูเมนูที่คน ๆ นั้นกินได้ในไทม์ไลน์ หาร้านอาหารหรือเมนูอาหารที่เหมาะกับตนจากผู้ใช้อันดับสูงสุด (Top User) ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้ใช้บริการจำนวนมากได้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นและรีวิวจริง อันเกิดจากการใช้ชื่อจริงที่ผูกอยู่กับบัญชี Facebook, LINE, Yahoo!ID
คุณโทโนมุระ ผู้รับผิดชอบ Retty ไทยแลนด์จำกัด ได้ร่วมงานกับบริษัท Retty ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยใน ค.ศ. 2016 ก็เข้าทำงานในบริษัทต่อทันที ซึ่งในตอนนั้นพนักงานของบริษัทมีจำนวนแค่เพียง 30-50 คน
ในปีแรกคุณโทโนมุระทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นในตำแหน่งผู้วางแผนแอปพลิเคชัน Retty และคอมมูนิตี้เมเนเจอร์ จึงมีโอกาสรับฟังคำติชม ความคิดเห็นที่มีต่อ Retty รวมไปถึงมองเห็นจุดปรับปรุงเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันจากการติดต่อพูดคุยกับผู้โพสต์รีวิวบนแพลตฟอร์มให้บริการของ Retty โดยเจ้าตัวได้กล่าวเอาไว้ว่า “ฉันซึมซับแนวคิดการบริการของ Retty เข้าไปในตัวของฉันแล้วแหละค่ะ”
ค.ศ. 2017 ทางบริษัทได้ลองถามหยั่งเชิงคุณโทโนมุระว่า “อยากไปประเทศไทยในฐานะผู้ดูแลและนักวิจัยตลาดหรือไม่” เดิมทีบริษัทคิดจะขยายตลาดไปยังตลาดอื่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น โดยมีฮ่องกงอยู่ในการพิจารณา แต่สุดท้ายบริษัทก็เลือกประเทศไทยเพราะเห็นว่าเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า มีความเป็นไปได้ที่สูงกว่าเหมาะกับ Retty โดยก่อนหน้านั้นคุณโทโนมุระไม่เคยมาที่ประเทศไทยเลย ไม่มีทั้งเพื่อนทั้งคนรู้จัก “ตอนถูกถามหยั่งเชิงแบบไม่มีเกริ่นก่อนล่วงหน้า ฉันรู้สึกตกใจมากเลยละค่ะ แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่า ‘คงจะเลือกเพราะเห็นความเป็นไปได้ในตัวฉัน หรือไม่ก็ถูกใจนิสัยของฉันที่ชอบท้าทายสิ่งใหม่ ๆ’” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก
คุณมิยาตะ นาโนเอะจาก EN Innovation Co., Ltd. ที่สนับสนุนการขยายกิจการในต่างประเทศของ Retty และสนิทสนมกับคุณโทโนมุระสอบถามว่า “การมาประเทศที่เพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรกสร้างความกังวลใจบ้างหรือไม่?” คุณโทโนมุระก็ตอบกลับทันทีว่า “บางทีตอนนั้นฉันคงยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไรเลยไม่รู้สึกถึงแรงกดดันอะไร มัวแต่รู้สึกตื่นเต้นกับ ‘ความท้าทาย’ แต่เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ โดยที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยคล่อง ซ้ายขวาก็ไม่รู้จัก ได้แต่แหงนมองท้องฟ้าอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็คิดว่าต่อจากนี้จะทำอย่างไรดี”
เริ่มด้วยการเพิ่มคนรู้จักในท้องถิ่นผ่านคนรู้จัก
ในค.ศ. 2017 คุณโทโนมุระมาถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรกทั้งที่พูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้ มิหนำซ้ำยังไม่มีเพื่อนหรือคนรู้จักสักคน คุณมิยาตะถามว่า “แล้วเริ่มธุรกิจจากจุดไหนหรือครับ?” คุณโทโนมุระตอบว่า “ฉันต้องติดต่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นให้ได้ก่อน ไม่งั้นจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก่อนอื่นคือต้องกล้าที่จะหาคอนเนคชั่น”
เริ่มแรกเลย เธอทำแบบสอบถามถามคนในบริษัทว่ามีคนรู้จักหรือมีเพื่อนที่ประเทศไทยหรือไม่ ให้เพื่อนร่วมชั้นสมัยเรียนที่เคยมาอยู่ประเทศไทยแนะนำคนรู้จักให้ ลองทำแม้กระทั่งพบปะกับคนไทยที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่น… ขณะที่กำลังทุ่มเทเพื่อสร้างเครือข่ายคนรู้จักในประเทศไทยอย่างขะมักเขม้น เธอก็เปิดอินสตาแกรมดูควบคู่ไปด้วย รวมถึงส่งข้อความติดต่อตรงหาผู้ใช้บริการที่โพสต์รูปอาหารน่าอร่อย หรือไม่ก็โพสต์ข้อมูลร้านอาหารที่กำลังได้รับความนิยม
“เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกหวาดระแวง ฉันจึงลองติดต่อไปโดยแนะนำตัวว่า ‘ฉันทำงานอยู่ในบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นชื่อว่า Retty และอธิบายให้พวกเขาฟังว่ากำลังวางแผนจะขยายธุรกิจสู่ประเทศไทย อยากให้ช่วยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ’ ซึ่งตัวฉันเองก็คิดเหมือนกันว่า ‘ถ้าจู่ ๆ มีคนไม่รู้จักอีเมลหรือส่งข้อความโดยตรงมาหาก็คงระแวงเหมือนกัน’ แต่ก็สมเป็น ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ คนไทยใจดีและใจกว้างมากค่ะ ทั้งตั้งใจตอบคำถาม อีกทั้งยังเป็นกำลังใจให้ Retty ของพวกเราที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย จากนั้นก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักคนอีกมากมาย ทั้งยังช่วยติดตั้งแอปพลิเคชันเวอร์ชั่นทดลองก่อนเปิดใช้งานจริงและให้ข้อเสนอแนะ เรียกได้ว่าฉันได้พบเจอกับคนหลายต่อหลายคนที่คอยสนับสนุนโดยไม่สนใจสิ่งตอบแทนเลยละค่ะ”
ในขณะที่ค่อย ๆ หยั่งรากธุรกิจลงในประเทศไทย Retty ก็ยังคงพัฒนาแอปพลิเคชันใน iOS / Android สำหรับการเปิดตัวบริการในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ระหว่างนี้ คุณโทโนมุระต้องเดินทางไปกลับประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น แต่สุดท้ายเธอมองว่า “การเดินทางมาทำงานระยะสั้น ๆ ทำให้งานไม่คืบหน้า” เธอจึงเช่าคอนโดมิเนียมโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากบริษัท และเลือกที่จะประจำการอยู่ในประเทศไทยโดยตั้งปณิธานว่า “ฉันจะเรียนรู้และซึมซับเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ!” แม้สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นจะไม่ได้ระบุเป้าหมายหรือมีจุดมุ่งหมายใดเป็นพิเศษ แต่คุณโทโนมุระผู้มองดู Retty เติบโตในประเทศญี่ปุ่นมาโดยตลอด ได้ตัดสินใจกำหนด KPI ให้เข้ากับการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวด้วยตัวเอง และให้ทีมในประเทศไทยใช้สิ่งนั้นเป็นเป้าหมายในการทำงาน
จากนั้น การจ้างพนักงานคนไทยเป็นครั้งแรกก็ได้เริ่มต้นขึ้น
จ้างคนไทยเข้ามาเป็นพนักงานครั้งแรก โดยวางเป้าหมายที่ “การหาพันธมิตรซึ่งสามารถสร้างธุรกิจร่วมกันด้วยมือของเราเอง”
ในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก สิ่งแรกที่บริษัทต้องเผชิญคือคำถามหรือไม่ก็ปัญหาเมื่อต้องจ้างงานคนในประเทศนั้น ๆ ความกังวลใจอย่างเช่น “ควรจ้างคนแบบไหน” “ทรัพยากรบุคคลเช่นไรจึงจะเหมาะ” “ควรใช้ช่องทางใดในการรับสมัคร” “จะจ้างอย่างไร” ย่อมผุดขึ้นมาไม่มีสิ้นสุด
แนวทางปฏิบัติพื้นฐานของคุณโทโนมุระคือ “ในเมื่อไม่รู้ ก็ต้องออกไปเจอผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” และข้อสำคัญที่สุดคือ “ต้องรู้ด้วยว่าพวกเขาสามารถทำความเข้าใจ มีความรู้สึกร่วมไปกับ Retty ได้มากน้อยแค่ไหน” เพราะในค.ศ. 2017 Retty เองยังไม่ได้เริ่มธุรกิจอย่างเป็นทางการ ไม่มีทั้งออฟฟิศ ไม่มีทั้งบริษัทในประเทศไทย มีแค่แอปพลิเคชันที่อยู่ในแอปสโตร์เพียงเท่านั้น
คุณโทโนมุระพยายามเข้าร่วมอีเวนต์สตาร์ทอัพอย่างแข็งขัน รวมถึงอาศัยเส้นสายคนรู้จักให้ช่วยแนะนำคนซึ่งตัวเองมองแล้วคิดว่าเหมาะจะร่วมงานด้วย และคนไทยที่ได้พบกันในครั้งนั้นก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นพนักงานไทยคนแรก
“เขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยมกว่าฉันเสียอีก ตอนที่ได้เจอเขาฉันคิดเลยละค่ะว่า ‘ฉันต้องการทำงานร่วมกับคนๆ นี้!’ ทว่าตอนนั้น เขาทำงานอยู่ในบริษัทอื่นและเงินเดือนค่อนข้างดีทีเดียว Retty ไม่สามารถให้เงินเดือนได้มากขนาดนั้น มิหนำซ้ำรายละเอียดเรื่องสวัสดิการก็ยังไม่ลงตัว ฉันจึงต้องแบกรับความเสี่ยงเพื่อให้เขามาทำงานด้วย เนื่องจากในตอนนั้นไม่มีออฟฟิศ ฉันจึงเชิญเขามาที่บ้าน ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมสุดความสามารถถึง 3 ชั่วโมง อธิบายว่า ‘Retty เป็นบริการแบบนี้’ ‘เราอยากสร้างธุรกิจร่วมกับคุณ’ สิริรวมระยะเวลาที่ใช้ในการเกลี้ยกล่อมก็ประมาณ 4 เดือนเลยทีเดียว (หัวเราะ) ถ้าไม่ใช่คนที่เยี่ยมยอดจริง ๆ ฉันก็คงไม่ทุ่มเทขนาดนี้หรอกค่ะ”
คุณโทโนมุระกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการได้บุคลากรชั้นยอดระดับนั้นเข้ามาร่วมงานใน Retty ซึ่งยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์ว่า “ที่สำเร็จได้คงเพราะฉันกระตือรือร้น และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะถ่ายทอดความกระตือรือร้นนั้นให้เขาเห็นละมั้งคะ” หลังจากนั้น 3 เดือน เธอตัดสินใจจ้างพนักงานใหม่อีกครั้งโดยคราวนี้คุณโทโนมุระตั้งใจว่า “จากนี้จะเลือกจ้างพนักงานซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่และคนวัยหนุ่มสาวที่ไม่มีประสบการณ์เป็นหลัก เพื่อให้พวกเขาเข้ามาสร้างสร้างวัฒนธรรมในองค์กรร่วมกัน” พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คุณโทโนมุระเริ่มแผ้วถางเส้นทางสู่การดำเนินธุรกิจในในประเทศไทยด้วยแนวคิด “สร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ไปพร้อมกับคนในท้องถิ่นผู้ไม่ปักธงความคิดของตัวเองเอาไว้ตั้งแต่ต้น” มากกว่าทำตามนโยบาย ”พัฒนาธุรกิจบริการของญี่ปุ่นให้เติบโตในประเทศที่ตนเข้ามาทำงาน”
จ้างงานคนในประเทศซึ่งมาเปิดธุรกิจเพิ่มขึ้น มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคำว่า “รักษาแรงจูงใจ” และ “อธิบายทิศทางการเติบโต”
คุณโทโนมุระมีแนวทางในเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร
สิ่งแรกเริ่มที่ต้องทำคือ ทำให้ Retty เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจาก Retty ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย คุณโทโนมุระกับพนักงานคนแรกในไทยจึงต้องช่วยกันระดมความคิด รวมถึงทดลองทำทุกอย่างที่ทำได้ สิ่งที่เธอระมัดระวังที่สุดในตอนนั้น ก็คือการใช้ภาษาไทยในการโพสต์ข้อมูลต่าง ๆ และในการตอบข้อความทุกข้อความท อันที่จริง Retty ระบบภาษาไทยไม่รองรับภาษาญี่ปุ่น ทางบริษัทจึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับระบบภาษาไทยเป็นการด่วน คนไทยนิยมใช้ Facebook กันเป็นอย่างมาก Retty จึงเลือกใช้ช่องทางดังกล่าวในการกระจายข่าวสารเพื่อให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น โดยคุณโทโนมุระเลือกที่จะรวบรวมเหล่านักรีวิวเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นผ่านทาง Facebook โดยนำประสบการณ์การทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในจุดนี้
“พนักงานคนไทยคนแรกและฉันต่างเชื่อมั่นว่า ‘Retty เป็นบริการที่ดี เพราะฉะนั้นธุรกิจจะต้องเติบโตขึ้นได้อย่างราบรื่นแน่นอน’ และเนื่องจากเดิมทีเราเป็นผู้ให้บริการซึ่งมุ่งเน้นธีมเกี่ยวกับอาหาร ดังนั้นผู้ใช้บริการจะเป็นคนประเทศไหนก็ไม่สำคัญ ขอเพียงพวกเขาเหล่านั้นมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันกับเรา นั่นคือ ‘ชอบกิน’ ‘อยากแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับเมนูอร่อย ๆ’ ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งในช่วงแรก ๆ ฉันได้รวบรวมผู้ใช้บริการเพียงไม่กี่คนและจัดอีเวนต์แบบออฟไลน์ขึ้น ก่อนจะจัดอิเวนต์ลักษณะดังกล่าวขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อรับฟังจุดที่ทุกคนเห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไข แล้วจึงค่อย ๆ ขยายคอมมูนิตี้ให้ใหญ่ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ”
หลังจากเปิดให้ใช้บริการแอปพลิเคชัน ก็คอยนับทุกวันว่า “วันนี้มีคนเข้าใช้งาน 10 คน” “วันนี้ 20 คน” กระทั่งหลายเดือนผ่านไปก็เริ่มขยับขึ้นมาเป็น วันนี้รักษาจำนวนผู้ใช้บริการได้หลายสิบคน” “สัปดาห์นี้คงจำนวนไว้ได้หลายสิบคน และกลายเป็นหลายร้อยคนในที่สุด” ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าบริการรูปแบบ CGM(Consumer Generated Media) นี้ส่งอิทธิพลต่อระดับการใช้งานของผู้ใช้บริการระดับกลาง(Middle Users) เป็นต้นไป โดยมีคำว่าผู้ใช้อันดับสูงสุด (Top User) มีความสนใจเข้าใช้แอปพลิเคชันมากน้อยเพียงใด เพลิดเพลินกับแอปพลิเคชันมากน้อยแค่ไหนเป็นตัวแปร นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณโทโนมุระจึงให้ความสำคัญกับการจัดอีเวนต์และจัดการประชุมโดยมีกลุ่มผู้ใช้อันดับสูงสุด (Top User) ของ Retty เวอร์ชันไทยเป็นเป้าหมาย รวมถึงขยายฐานผู้นิยมใช้บริการ Retty ได้เป็นผลสำเร็จผ่านการแสดงความรู้สึกขอบคุณในรูปของมอบของที่ระลึกออริจินัล
“บ่อยครั้งที่ธุรกิจแอปพลิเคชันหรือการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตไม่ให้ความสำคัญกับอีเวนต์ออฟไลน์มากนัก ทั้งที่การพบปะพูดคุยและแสดงความขอบคุณผู้ใช้อันดับสูงสุด (Top User) โดยตรง มีส่วนช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าใจเรามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เราเองก็ได้เข้าใจความคิดของผู้ใช้บริการเช่นกัน ฉันคิดว่าการได้ปฏิสัมพันธ์แบบออฟไลน์นี้มีความสำคัญมากทีเดียวค่ะ”
ระหว่างขยายฐานบริการสู่คนทั่วไป คุณโทโนมุระยังมีงานอีกชิ้นหนึ่งที่ต้องทำ นั่นคือการรักษาแรงจูงใจของพนักงานในบริษัทสาขาที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยให้คงอยู่
บริการซึ่งมองหารายได้จากการก่อตั้งธุรกิจและเปิดตัวก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยเพิ่มผู้ใช้บริการ เพิ่มรีวิว สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักควบคู่ไปกับการขยายตลาดเช่น CGM ต้องใช้เวลานานพอควรกว่าธุรกิจจะเข้าที่เข้าทางจริง ๆ ซึ่ง Retty เองก็มีเวลา 3 ช่วงดังกล่าวอันประกอบด้วย “ช่วงขวนขวายหารีวิว” “ช่วงการเติบโตของผู้ใช้บริการ (User growth)” และ”ช่วงรายได้” เช่นกัน ซึ่งกว่าจะมีรายได้เห็นชัดเป็นรูปธรรมก็ต้องใช้เวลา 3-5 ปี
คุณโทโนมุระตระหนักดีว่าตัวเองกำลังอยู่กับช่วงที่เรียกว่าช่วงเติบโต แต่พนักงานคนไทยบางส่วนกลับรู้สึกกังวลใจที่เห็นยอดขายยังคงซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเช่นนี้เรื่อยมาตลอด 2 ปีหลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในค.ศ. 2018 คุณโทโนมุระจึงต้องใช้ความอดทนในการอธิบายลักษณะของธุรกิจและรูปแบบการสร้างรายได้ เพื่อขจัดความวิตกของบรรดาพนักงาน
พนักงานบางคนได้รับแรงบันดาลใจจากความกระตือรือร้นนั้นและพยายามทำงานอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่มองด้วยสายตาไม่พอใจแล้วพูดว่า “ทำไมต้องพยายามขนาดนั้น?” คุณโทโนมุระไม่ปฏิเสธความกระตือรือร้นในด้านการทำงานที่แตกต่างของแต่ละคน เธอหันหน้าเข้าหาพนักงาน รับฟังความคิดเห็นที่มีต่องาน การใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ แผนชีวิตของแต่ละคนอย่างตั้งใจ และช่วยให้คน ๆ นั้นรักษาแรงจูงใจด้วยวิธีที่เหมาะสมกับเขาได้ นอกจากนี้การมีอยู่ของชุมชนผู้ใช้บริการ (User community) ที่เติบโตเป็นรูปเป็นร่างในไทยเองก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน “จากการพูดคุยกับผู้ใช้บริการ ทำให้รู้ว่าทุกคนชอบและสนุกไปกับ Retty ซึ่งนั่นได้กลายแรงจูงใจให้อยากทำงานนี้ต่อไปของพนักงานหลายคน” เธอกล่าว
และสารพันประสบการณ์ที่สั่งสมมาได้ผลักดันให้ Retty ไทยแลนด์มียอดผู้เข้าชมต่อเดือนถึง 1,000,000UU ในเดือนมีนาคม 2021
กุญแจสู่ความสำเร็จคือ เราสามารถหลอมรวมธุรกิจให้กลมกลืนกับพื้นที่นั้นโดยไม่คำนึงถึงเรื่องพรมแดนได้มากแค่ไหน
เมื่อประเทศแตกต่าง ภาษาที่ใช้ก็ย่อมต่างกัน วัฒนธรรม ภูมิประเทศ ความนึกคิดก็ต่างกัน ตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความอดทนสูง หากบริการหรือแอปพลิเคชันใดใช้แล้วถูกใจก็จะใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่เปลี่ยน ผิดกับในประเทศไทยซึ่งว่ากันว่า “มีคนขี้เบื่อเยอะ”
คุณโทโนมุระกล่าวว่า “เคยได้ยินเหมือนกันว่าตลาดประเทศไทยเปลี่ยนเร็วมากเข้าขั้นมาไวไปไว แต่โดยส่วนตัวแล้วฉันไม่คิดแบบนั้น” นั่นเป็นเพียงทฤษฎีทั่วไปที่หยิบยกมากล่าวอ้างกัน คนไทยไม่ได้ขี้เบื่อกับทุกอย่างทุกเรื่อง การได้พบเจอผู้ใช้บริการแบบรักกันเหนียวแน่นและมีพนักงานคุณภาพรายล้อม นับเป็นเรื่องที่ทำให้คุณโทโนมุระรู้สึกว่าตัวเองโชคดียิ่นัก แต่ขณะเดียวกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความโชคดีเหล่านั้น เกิดจากการที่คุณโทโนมุระทุ่มเทกระตือรือร้นที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการและบุกเบิกสร้างคอนเนคชั่นด้วยตัวเอง อีกทั้งยังได้บริหารงานโดยมีความคิดว่า “ความเบื่อเกิดขึ้นเพราะว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง” จึงหมั่นกระตุ้นโดยการเปลี่ยน KPI ของบริษัททุก 3 เดือน หรือตั้งเป้าหมายเรื่องการปรับปรุงพัฒนาให้สูงขึ้นโดยให้คิดว่า “หากในอนาคตสามารถทำเช่นนี้ก็คงจะดีไม่น้อย!” เมื่อผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกท้าทายและอยากเอาชนะขึ้น
คุณโทโนมุระให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ตัวเลข 1,000,000 UU แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงแต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งนี่อาจเป็นแค่เพียงจุดผ่าน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการขยายบริการพร้อมกับเปลี่ยนบริการนั้นให้เป็นรายได้ในอนาคตย่อมไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ”
เมื่อคุณมิยาตะถามว่า “ตอนนี้คุณคิดอย่างไรกับการมาท้าทายตัวเองในประเทศไทย” คุณโทโนมุระตอบว่า “ฉันว่าดีมากเลยค่ะ” โดยเธอตอบคำถามโดยใช้เหตุผลจากสอง มุมมองประกอบด้วย “บริษัท” และ “ตัวของเธอเอง”
“หากมองในมุมมองของบริษัท ฉันคิดว่าเราได้สร้างความประทับใจครั้งสำคัญด้านสังคม ด้วยการแสดงให้คนทั้งในและนอกบริษัทให้เห็นถึง ‘ความพร้อมท้าทายความก้าวหน้าระดับสากล’ ผ่านโครงการนี้ บริการด้านกูรเมต์ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นจะเติบโตได้ไกลแค่ไหนเมื่อก้าวสู่ระดับโลก ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องขบคิด อีกทั้งท้าทายความสามารถอย่างมากทีเดียว และหากมองมุมมองของตัวฉัน ฉันคิดว่ามันคือเรื่องสนุก และฉันก็ค่อนข้างชอบเสียด้วยที่ได้ท้าทายกับสารพันสิ่งใหม่ฉันรู้สึกขอบคุณสภาพแวดล้อมที่ทำให้ฉันสามารถรับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การทำงานอย่างสนุกสนานด้วยความรู้สึกที่ว่า ‘ผิดบ้างพลาดบ้างก็อย่าได้กลัว เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะต้องราบรื่นแน่นอน’ เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง”
และในช่วงท้ายของการพูดคุย คุณโทโนมุระได้ฝากถึงผู้ประกอบการซึ่งคิดจะขยายกิจการสู่ต่างประเทศไว้ดังนี้
“ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณสามารถกลมกลืนและเข้าใจประเทศนั้นได้มากแค่ไหน สิ่งที่พวกเราอยากทำนั้นเข้ากับตลาดในประเทศนั้น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด คือสิ่งแรกที่ทุกคนควรขบคิดให้รอบคอบ ความต้องการ ‘อยากขยายบริการนี้ของประเทศญี่ปุ่น’ หากมีมากเกินก็ใช่ว่าจะดี การพยายามฝืนทำตัวให้เข้ากับประเทศนั้น ๆ มากเกินก็อาจกลายเป็นเหตุให้ทิศทางที่ตั้งเป้าเอาไว้เบี่ยงหลุดไปยังทิศทางตรงกันข้าม ซ้ำยังไม่รู้สึกสนุกกับการทำงานอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นฉันคิดว่าคงเป็นการดีกว่า หากเราเลือกที่จะหยั่งรากในประเทศนั้น ๆ และเดินหน้าขยายกิจการไปพร้อมกับการร่วมเติบโตและแบ่งปันความประทับใจไปพร้อมกันกับผู้คนในท้องถิ่น”
** Retty is accelerating their business in Thailand with “community marketing”