2020.12.08

Survey

กลุ่มองค์กรธุรกิจใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์อย่างไร ในยุค New Normal?

กลุ่มองค์กรธุรกิจใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์อย่างไร ในยุค New Normal?

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การติดต่อสื่อสารทางออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ขณะเดียวกัน กลุ่มองค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนมาทุ่มเทให้กับโซเชียลมีเดียและการตลาดในรูปแบบดิจิทัลก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียคือสิ่งที่อยู่คู่กับเราจนกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติธรรมดา แต่เคยสังเกตตัวเองไหมว่าคุณหยิบยกโซเชียลมีเดียขึ้นมาใช้ในลักษณะใดบ้างท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 รวมทั้งเคยคิดไหมว่าระหว่างก่อน และหลังเกิดโควิด-19 รูปแบบการใช้งานโซเชียลมีเดียมีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะใด

 

บริษัท SMARTLY.IO ได้จัดทำรายงานภายใต้หัวข้อ “The Evolution of Social Advertising in 2020” ขึ้น โดยเป็นรายงานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านความสนใจของบุคคลที่มีต่อโซเชียลมีเดีย เปรียบเทียบระหว่างช่วงก่อนเกิดโควิด-19 กับช่วงหลังเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเนื่องจากเล็งเห็นว่าแบบสำรวจดังกล่าวน่าสนใจอย่างยิ่ง เราจึงขอหยิบยกเนื้อความบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้

SMARTLY.IO เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่นำเสนอบริการมาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์มเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการลงโฆษณาในระบบโซเชียลมีเดียสู่ระบบอัตโนมัติ โดยบริษัทตั้งอยู่ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งผลของรายงานฉบับที่กล่าวถึงนี้ได้จากผลสำรวจความคิดเห็นประชากรหลากหลายประเทศ ประเทศละประมาณ 2,000 คน อนึ่ง ใจความหลักของแบบสำรวจความคิดเห็นนี้เปรียบเทียบระหว่างระยะแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2020 กับระยะที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลกในเดือนสิงหาคม 2020

เริ่มด้วยหัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงของระดับความสนใจที่มีต่อโฆษณาบนโซเชียลมีเดียของผู้คน อันมีสาเหตุจากโควิด-19” ผลสำรวจบ่งชี้ว่าโควิด-19 ทำให้ความสนใจที่มีต่อโฆษณาบนโซเชียลมีเดียลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันตก จริงอยู่ว่าการเข้าโซเชียลมีเดียในช่วงระยะการรณรงค์เรื่อง Work from Home และ Stay at Home ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้น ทว่าความสนใจในเรื่องของโฆษณาบนโซเชียลมีเดียกลับลดฮวบฮาบ

ลำดับถัดมา ลองเปรียบเทียบหัวข้อ “วัตถุประสงค์ของการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” กันบ้าง เห็นได้ว่าเหตุผลเช่น “ฆ่าเวลา” “แก้เบื่อ” ลดน้อยลง ขณะที่ผู้คนทั่วโลกประมาณ 61% ตอบว่า “ใช้เพื่อติดต่อพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อน ๆ” แม้ไม่ใช่ตัวเลขที่มากมายจนน่าตกใจ แต่ผลสำรวจนี้ก็บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดแนวโน้มความต้องการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนใกล้ชิดเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ จากการสำรวจในหัวข้อ “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใช้งานมากสุด” พบว่า ผู้คน 45%เลือกใช้ Facebook ตามด้วย YouTube (24%) Instragram (15%)

ส่วนหัวข้อ “ประเภทของโฆษณาที่อยากดู” ก็มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มชื่นชอบคอนเทนต์ประเภทวิดีโอสั้นเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแนวโน้มนั้นกลับยิ่งเพิ่มพรวดพราดในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 51% ในทางกลับกัน ความสนใจในคอนเทนต์ภาพนิ่งมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นหรือภาพเคลื่อนไหวมีนื้อหาข้อมูลมากกว่าภาพนิ่ง และความนิยมดังกล่าวน่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

ขณะเดียวกัน แบบสำรวจเบื้องต้นยังทำให้รู้ว่าผู้คนจับตามองการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรธุรกิจในโซเชียลมีเดีย สังเกตว่าองค์กรธุรกิจมีแผนการรับมือกับไวรัสโควิด-19 แบบใด รวมถึงให้ความสนใจเกี่ยวกับโฆษณากิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อความเชิญชวนให้สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางกายภาพด้วย แต่ที่น่าสนใจคือ บางความเห็นระบุว่าต้องการให้ยกเลิกการโฆษณา จึงเกิดเป็นโจทย์ท้าทายข้อสำคัญขึ้นมาว่า กลุ่มองค์กรธุรกิจจะแสดงจุดยืนของตนในรูปลักษณะใด จึงจะไม่เกิดการต่อต้านจากสังคมในช่วงเวลานี้

ต่อข้อคำถามที่ว่า “ท่านมีการสั่งซื้อสินค้าจากโฆษณาบนโซเชียลมีเดียในช่วงเวลา 30 วันก่อนหน้าหรือไม่” ปรากฏว่าผลลัพธ์ค่อนข้างแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่พอจะสรุปได้ว่ายอดการสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลง  เมื่อเทียบกันแล้ว โฆษณาบนโซเชียลมีเดียดูจะไม่ตอบโจทย์ด้านดึงคนให้เข้ามาสั่งซื้อสินค้ามากเท่าไรนักนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

หัวข้อสุดท้าย ขอพูดเกี่ยวกับโฆษณาด้านการท่องเที่ยวในประเด็น “คาดหวังจะได้เห็นโฆษณารูปแบบใดจากบริษัททัวร์” กันบ้าง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งแวดวงที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มิหนำซ้ำ ผู้คนมากกว่า 30% ในประเทศอย่างเช่น เยอรมัน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่าบริษัทท่องเที่ยวยังไม่ควรลงโฆษณาเวลานี้ ขณะที่ประเทศอิตาลี (41%) ประเทศสเปน (43%) สหราชอาณาจักร (45%) สหรัฐอเมริกา (43%) ต้องการให้มีการกำหนดราคาแบบยืดหยุ่น รวมถึงเพิ่มเติมนโยบายการยกเลิกลงในแพคเกจสินค้าท่องเที่ยว สำหรับแวดวงธุรกิจการท่องเที่ยว โซเชียลมีเดียถือเป็นช่องทางสำคัญในการเชิญชวนให้เกิดการท่องเที่ยว เมื่อโควิด-19 เป็นต้นเหตุให้โฆษณาไม่ได้อย่างอิสระ ผลกระทบระยะยาวย่อมเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งหมดนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในยุค New Normal อย่างน้อยที่สุด ผลจากแบบสำรวจความเห็นที่ยกมาเล่าสู่กันฟังข้างต้น ก็ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าวิธีเข้าหาโซเชียลมีเดียของผู้คนปัจจุบันเปลี่ยนไปเช่นไร และจากนี้การติดต่อสนทนาผ่านระบบออนไลน์เอย ระบบดิจิทัลเอยคงรุดหน้ามากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน มองให้ทะลุถึงแก่นแท้ว่าบทบาทหน้าที่ของโซเชียลมีเดียคืออะไร

อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วมการทำแบบสำรวจความเห็นครั้งนี้มีแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับองค์รวมของโซเชียลมีเดียในกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถติดตามอ่านได้จาก “ภาพรวมของการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในกลุ่มประเทศอาเซียน”