2020.12.06

Case Study

รายงานการจัดงาน JRIT in CEBIT ASEAN Thailand

รายงานการจัดงาน JRIT in CEBIT ASEAN Thailand

งาน CEBIT ASEAN Thailand 2020 Virtual Edition จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จากรายงานของคณะผู้จัดงาน ในการจัดงาน CEBIT ASEAN Thailand ครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,600 คน  หรือประมาณครึ่งหนึ่งจากที่ประมาณการณ์ไว้ในตอนแรกว่าน่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วม 5,000 คน ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเพราะเป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เข้าร่วมงานแค่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้ประเมินผลสำเร็จของกิจกรรมได้ เนื่องด้วยครั้งนี้เป็นงานนิทรรรศการเพื่อลูกค้ากลุ่ม B2B โดยเฉพา

โปรเจ็กต์พิเศษ CEBIT ASEAN Thailand โซน Japan Recommend IT

บริษัทของเราได้รับโอกาสให้เปิดโซนกิจกรรม Japan Recommend IT ในงานดังกล่าว จึงอยากขอนำผลสรุปแบบคร่าว ๆ มาเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อย

ในโซน JRIT ครั้งนี้ มีผู้ประกอบการร่วมออกบูธทั้งหมด 8 บูธ และมีผู้สนใจเข้าชมโซน JRIT ทั้งสิ้น 1,000 คนโดยประมาณ การเปิดให้มี “Pitching video” หรือวิดีโอนำเสนอไอเดียธุรกิจ เพื่อแนะนำเกี่ยวกับบริษัท รวมถึงสินค้าของผู้ร่วมออกบูธแบบกระชับได้ใจความบูธละ 3 นาที นับเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับอธิบายให้ผู้ชมงานรับรู้ว่าบริษัทแต่ละบริษัทให้บริการ solution รูปแบบใด

นอกจากนี้เรายังได้จัดเตรียมไฟล์ PDF ของ “e-Brochure”  รวม 10 ประเภทให้ดาวน์โหลด แน่นอนว่าผู้ประกอบการสามารถติดตามผลได้ว่าผู้เข้าชมบูธแต่ละบูธเลือกดาวน์โหลดชนิดใดบ้าง ทำให้ง่ายต่อการวางแผนการขายหลังสิ้นสุดงานกิจกรรม

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ “Live Chat” ซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อให้ผู้เข้าชมงานถามคำถามกับผู้ประกอบการแบบไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าให้วุ่นวาย ไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าที่ควร แต่ในด้าน “Business Matching“ ซึ่งเป็นการเจรจาธุรกิจแบบนัดหมายวันเวลาล่วงหน้ากลับได้รับความสนใจอย่างมาก

วันที่ห้าของการจัดงาน ทางเราได้วางแผนโปรเจ็กต์พิเศษ “Japan Recommend IT Day” และจัดการถ่ายทอด Webinar เป็นจำนวน 7  หัวข้อด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งในแต่ละหัวเรื่องมีผู้สนใจรับฟังเฉลี่ยราว 70-80 คน คิดเป็นยอดรวมมากกว่า 500 คนในองค์รวมของกิจกรรม JRIT

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Keynote เราได้รับเกียรติจากคุณยะโกะ โทโมโนริ CEO จากบริษัท Industrial-X  เจ้าของสมญานาม “Mr. IoT” อันโด่งดัง ขึ้นเป็นผู้บรรยาย เพื่อแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจริงของ IoT / Digital Transformation ที่แวดวงอุตสหากรรมการผลิตในประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาใช้ และเนื่องจาก IoT เปรียบได้กับเทคโนโลยีหัวใจสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ทางรัฐบาลไทยกำหนดเอาไว้ จึงมีผู้ประกอบการด้านงานอุตสาหกรรมการผลิตของไทยร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

น่าเสียดายที่กิจกรรม “จับรางวัล (Lucky Draw)” ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนไม่ถึงเกณฑ์กำหนด แม้จะมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวทาง facebook ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนถึงระหว่างช่วงเวลาจัดงาน ในช่วงระยะเวลาของการจัดงาน มีผู้เข้าร่วมงานบางท่านส่งข้อความเข้ามาว่า “ไม่รู้ว่าต้องสมัครร่วมสนุกจับรางวัลอย่างไร” ซึ่งรายละเอียดการ log in และวิธีการต่าง ๆ แจ้งอยู่ใน facebook แล้ว ทว่าช่วงเวลาของการลงบทความดังกล่าวอาจล่าช้าเกินไป จนส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมไม่ลื่นไหล อันที่จริงเรารู้มาก่อนว่าคนไทยชื่นชอบกิจกรรมเล่นเกมจับรางวัล จึงค่อนข้างคาดหวังไว้มากพอควร คิดแล้วก็อดเสียดายไม่ได้ที่ผลลัพธ์ไม่เป็นตามหวัง ซึ่งเราจะนำข้อผิดพลาดครั้งนี้มาพิจารณาปรับปรุงสำหรับงานครั้งต่อไป

เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

อีกข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ พวกเราคำนวณผิดพลาดในเรื่องสิทธิ์การเข้าถึงภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อพิจารณาตัวเลขโซน JRIT จะเห็นได้ว่าการยินยอมเปิดเผยข้อมูลแก่บูธผู้ประกอบการและ Webinar มีอัตราส่วนต่ำกว่า 50% จริงอยู่ว่าครั้งนี้เป็นกิจกรรมลักษณะ B2B แต่กระนั้นก็ตามในประเทศญี่ปุ่นเองยังไม่เคยปรากฏอัตราส่วนต่ำเท่านี้ ซึ่งทางเราและคณะผู้จัดงาน CEBIT จำเป็นต้องหารือกันเพื่อค้นหาสาเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทว่าจากการวิเคราะห์ของพวกเรา เป็นไปได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการไม่เข้าใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติใน พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างถ่องแท้ ซึ่งพรบ. ฉบับนี้จะประกาศใช้เต็มรูปแบบในเดือน พ.ค. ปีหน้า และเดาได้ไม่ยากว่านับจากนี้คนไทยคุ้นหูกับคีย์เวิร์ดคำว่า พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มากขึ้น  ขณะเดียวกันก็น่าจะมีคนอีกไม่น้อยที่ยังข้องใจในเนื้อหาเชิงรูปธรรม ไม่รู้ว่า พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีไว้เพื่ออะไร? สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลหรือโปรแกรมมีผลดี และผลเสียอย่างไร? (ผลดีกับผลเสียมีมากน้อยเพียงใด) พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เคยได้ยินคำว่า พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  แต่ไม่รู้ว่าคืออะไรจึงเกิดเป็นความรู้สึกต่อต้านและตั้งป้อม “ปฏิเสธ” ไว้ก่อนตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ปัญหาที่พวกเราในฐานะผู้ให้บริการการตลาดแบบ B2B ต้องเร่งแก้ไข

* บทความที่เกี่ยวข้อง “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) คืออะไร แบรนด์และผู้บริโภคต้องปรับตัวและรู้อะไรบ้าง”

รูปแบบการตลาด B2B ในยุคชีวิตวิถีใหม่

การจัดงาน JRIT รูปแบบออนไลน์ถึง 2 ครั้งในงาน Japan Recommend IT Online ที่จัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้ และงาน CEBIT ASEAN Thailand ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยให้เราตระหนักถึงประโยชน์ของการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ และการจัดกิจกรรมแบบออฟไลน์ เพื่อการตลาด B2B ในยุคชีวิตวิถีใหม่ ตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ช่วยให้การศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และการสนทนาโต้ตอบเพื่อเจรจาการค้ากลายเป็นเรื่องสะดวกสบาย ขณะที่การจัดกิจกรรมรูปแบบออฟไลน์ มีข้อดีด้านการนำเสนอเสน่ห์ของสินค้า และบริการในเชิงลึก เชื่อมโยงสู่การติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า

เราจะนำข้อผิดพลาดต่าง ๆ มาปรับปรุงแก้ไข และสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยี IT Solution ชั้นเลิศของญี่ปุ่น สู่ผู้ประกอบการชาวไทยทุกคนต่อไป

สุดท้ายนี้ ขอแสดงความขอบคุณผู้สนับสนุน ผู้ร่วมออกบูธ ผู้ร่วมงาน CEBIT ASEAN Thailand ครั้งนี้เป็นอย่างสูง ขอบพระคุณครับ