2021.03.29

Survey

จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ฟื้นตัวตลอดกาล?

จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ฟื้นตัวตลอดกาล?

นับตั้งแต่ประเทศไทยประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 เวลาก็ล่วงเลยจนครบ 1 ปี ซึ่งพระราชกำหนดฉุกเฉินนี้มีการขยายเวลามาแล้ว 11 ครั้ง และในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน โดยเฉพาะการพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อใหม่ในเขตปริมณฑลช่วงปลายปี 2563 ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยได้กลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

โรงแรมละแวกใกล้เคียงกับบริษัทของเราที่ตั้งอยู่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานครส่วนมากปิดให้บริการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าเช่าในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ก็พากันยกเลิกสัญญา ประกาศปิดร้านไปไม่น้อย เมื่อเข้าเดือนมีนาคม ร้านอาหารก็เริ่มกลับมาให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ และนี่ถือเป็นหนึ่งปัจจัยดึงให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ แต่ตราบใดที่ยังไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ก็คงพูดได้ยากว่าสถานการณ์โดยทั่วไปกำลังกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลไทยระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคม ทว่ายังไม่ประกาศเป็นทางการเนื่องจากส่วนหนึ่งยังกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการระบาดระลอกสามและสี่ของโควิด-19

ท่ามกลางความไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินต่อจนถึงเมื่อไร ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงได้จัดทำและเผยแพร่วิจัยกรุงศรี : Krungsri Research ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร หากเราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดกาล” โดยเราขอหยิบยกบางส่วนมาบอกเล่าสู่กันฟังในที่นี้

จากรายงานผลการวิจัยดังกล่าวชี้ว่า ตัวแปรสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ ก็คือ การควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวคือ แม้อุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคงมาจวบจนปัจจุบัน (อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว) จะโอดครวญกับความเสียหายหนักหน่วงเป็นลูกโซ่สักเพียงใด รัฐบาลไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจำกัดการเดินทางเข้าออกจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด รวมถึงล็อคดาวน์พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเหตุให้การอุปโภคบริโภคภายในประเทศถูกจำกัดตามไปด้วยชั่วคราว ถึงแม้นโยบายเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลด้านสุขภาพของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลข้างเคียงใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง

การวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกแรกและระลอกสองในภาคธุรกิจต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบหนักที่สุด ธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยวและบริการคือ ธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจร้านอาหาร โดยปัจจุบันมีการปรับลดค่าจ้างลง 18-45% และถึงแม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 จะดีขึ้น อีกทั้งหลายบริษัทเริ่มกลับมาขยายเวลาทำงานได้แล้ว แต่อัตราค่าจ้างก็ยังมีแนวโน้มต่ำกว่าอัตราค่าจ้างในปี 2562

สาเหตุ 2 ประการที่ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดอาจไม่จบในเร็ววัน ประกอบด้วย

(1) จากบทเรียนในต่างประเทศ เป็นที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อสามารถเกิดซ้ำได้อย่างง่ายดาย

(2) ภูมิคุ้มกันหมู่ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการติดเชื้อหมู่หรือการฉีดวัคซีนป้องกันในจำนวนที่มากพอ

เจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทยคาดการณ์ว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2564 ทว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ หากความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของเชื้อยังคงมีอยู่และไม่สามารถกำจัด COVID-19 แบบถอนรากถอนโคนได้สำเร็จ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และครัวเรือนของไทยก็จะยังคงดำเนินต่อไป

และหาก COVID-19 ไม่ทุเลาลงตลอดกาล สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. การใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลขอปรับขึ้นอัตราภาระค่ารักษาพยาบาล
  2. มาตรการควบคุมการแพร่กระจายของการติดเชื้อและข้อจำกัดในการเดินทาง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปยังการจัดงานนิทรรศการ งานแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต ฯลฯ โดยรวมชะงักงัน การเดินทางระหว่างต่างประเทศเองก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากกฎระเบียบในการเดินทางเข้มงวดขึ้น
  3. ความจำเป็นในการเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันโรค ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายขององค์กรเพิ่มขึ้นตามมา
  4. กิจกรรมด้านการผลิตลดลง ซึ่งปัจจุบันนี้ การเพิ่มผลผลิตทางแรงงานลดลงแล้วประมาณ 10% อันเป็นผลเนื่องจากการระบาดของโรค
  5. บริษัทต่าง ๆ เร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการและจัดการปัญหาของลูกค้า รวมถึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีส่งเสริมการปฏิรูปการทำงานที่จำเป็นเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
  6. ย้ายทรัพยากร (แรงงาน เงินทุน วัตถุดิบ) จากอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบรุนแรงสู่อุตสาหกรรมที่มีความผันผวนน้อย การกระจายแรงงานสู่ภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราผลกระทบจากการแพร่ระบาดภายในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นตัวแปร

หากการแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ต้นทุนทางเศรษฐกิจในการฟื้นฟูและนำเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกลับคืนมาจะมีมูลค่ามหาศาล รวมถึงระยะเวลาในการฟื้นตัวจะยาวนานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าภาคธุรกิจใด คือ ผู้อยู่รอด และภาคธุรกิจใดคือผู้พ่ายแพ้ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ส่วนที่น่าจะเจอผลกระทบหนักหนาที่สุดจากนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด น่าจะเป็นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสาร ส่วนธุรกิจด้านไอที โทรคมนาคม การดูแลสุขภาพ และอิเล็กทรอนิกส์กำลังกลับเข้าสู่เกณฑ์ก่อนการระบาดทีละน้อย

บางความเห็นระบุว่าไม่เพียงแค่กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา แต่ความเหลื่อมล้ำเดิมระหว่างครัวเรือนไทยจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นเหตุให้ความเป็นไปได้ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยิ่งห่างไกลออกไปอีก อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดสรรให้การถ่ายโอนทรัพยากรระหว่างภาคธุรกิจเป็นเรื่องง่าย ถ่ายโอนสะดวก ปัญหาต่าง ๆ ก็อาจทุเลาลง นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมการกระจายทรัพยากรการผลิตในภาคธุรกิจและองค์กรธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ยังอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทางหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลไทยให้พยายามสลัดตัวเองออกจากกรอบความสำเร็จในอดีต ตัวอย่างยืนยันแนวคิดนี้ ได้แก่ การมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด และรัฐบาลพร้อมยื่นมือให้การสนับสนุนบริษัทเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ดีไม่ดีในอนาคตภายภาคหน้า คำว่าเศรษฐกิจดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ อาจกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในแวดวงต่าง ๆ ดังนั้น เราจึงควรสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญและนโยบายของไทยแลนด์ 4.0 เอาไว้ตั้งแต่ตอนนี้

“ธุรกิจใหม่ในประเทศไทยที่ได้รับความสนใจในช่วง COVID-19”