JRIT ICHI เปิดตัวคอนเทนท์ใหม่ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ โดย ICHI TALK ประเดิมเป็นตอนแรก ด้วยการสัมภาณ์คุณชนม์ชลิต ดีมี CEO แห่ง Novel Carcare Delivery ในหัวข้อ “จากเด็กล้างรถตามบ้านที่ทุกคนดูถูก สู่ผู้นำทางธุรกิจ Car Care”
ดำเนินรายการโดย คุณวิชัย วรธานีวงศ์ คลื่น FM 96.5
ICHI TALK ประเดิมเริ่มตอนแรกด้วยการสัมภาษณ์คุณแบงค์ ชนม์ชลิต ดีมี CEO แห่ง Novel Carcare Delivery ในหัวข้อ “จากเด็กล้างรถตามบ้านที่ทุกคนดูถูก สู่ผู้นำทางธุรกิจ Car Care” ซึ่งจะมาเล่าที่มาของความสำเร็จ และบอกเคล็ดลับว่าคุณแบงค์ทำอย่างไร จึงสามารถลบคำสบประมาทจนก้าวมาถึงจุดที่ผู้คนต่างรู้จัก และรักในบริการของ Novel Carcare Delivery
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ก่อนอื่น ขอให้คุณแบงค์ช่วยเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเองสักเล็กน้อยครับ
คุณแบงค์: ผมชื่อ ชนม์ชลิต ดีมี หรือ แบงค์ ครับ ปัจจุบันทำธุรกิจเกี่ยวกับ Carcare Delivery โดยเริ่มต้นจากการล้างรถตามบ้าน ทำมา 9 ปีแล้วครับ ตอนนี้นอกจากบริการล้างรถ ก็ยังเพิ่มบริการขัดสี ฟอกเบาะ เคลือบเซรามิค ติดฟิล์มกันรอย และบริการติดฟิล์มกรองแสงเข้ามาด้วยครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ความฝันและเป้าหมายในวัยเด็กของคุณแบงค์ คืออะไรครับ?
คุณแบงค์: ตอนเด็ก ๆ ผมอยากเป็นตำรวจ แต่แน่นอนครับ เป้าหมายในชีวิตคนเรามักเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ที่พบเจอในชีวิต ตอนผมเรียนอยู่ ม.2 ก็เริ่มคิดอยากเป็นนักธุรกิจ ผมเริ่มต้นจากการขายปลาหางนกยูง ทำให้ได้เริ่มเรียนรู้ทักษะการขาย แต่ที่จริงแล้วทักษะการขายของผมน่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วง ป.2 ที่คุณแม่ให้นำของไปขายที่โรงเรียนแล้วมั้งครับ ตอนนั้นแม่สอนผมว่า “ของที่จะขายได้ต้องเป็นสิ่งที่ยังไม่มีขายในโรงเรียน” ซึ่งตอนนั้นผมเลือกลูกอมสเตร็ปซิลเป็นสินค้าเข้าไปขาย ผลตอบรับดีครับ ผมขายได้วันละประมาณ 20-30 เม็ด ได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าอยากขายอะไร ควรเลือกสินค้าที่มีคู่แข่งน้อยจะทำให้เหนื่อยน้อยลง
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: เทคนิคที่ตนเองเรียนรู้ และสิ่งที่คุณแม่สอนในการขายตอนนั้นก็คือให้ไปที่ Blue ocean ไม่ใช่ Red ocean ทำให้มีแรงบันดาลใจใช่ไหมครับ? แล้วในระดับอุดมศึกษา คุณแบงค์เรียนที่ไหน คณะอะไร?
คุณแบงค์: ผมเรียนบริหารการค้าระหว่างประเทศครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: หลังจากเรียนจบได้มีโอกาสทำธุรกิจแล้วต่อยอดไปในระดับสากลอย่างที่ตั้งใจไว้ไหมครับ? หรือว่าเรียนจบแล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างก่อน
คุณแบงค์: ผมไม่เคยมีโอกาสทำงานประจำ ส่วนตัวเริ่มทำธุรกิจส่งออกปลาสวยงามตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยครับ เริ่มทดลองขายตั้งแต่ช่วงปี 1 เทอม 2 จากนั้นก็ขยับขยายกิจการมาเรื่อย ๆ โดยในตอนนั้นผมมีฟาร์ม 2 แห่ง มีหน้าร้านที่จตุจักร 2 ห้อง พอช่วงเรียนปี 2 ก็ทำส่งออกด้วยครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: อะไรเป็นจุดเปลี่ยนจากการทำธุรกิจส่งออกปลาสวยงาม ไปเป็นมอเตอร์ไซค์ล้างรถเดลิเวอรี่ครับ?
คุณแบงค์: ตอนนั้นผมเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว และยังทำธุรกิจส่งออกปลาอยู่ แต่ผมมีนิสัยชอบใช้รถสะอาดและชอบปรับขั้นตอนเพื่อให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ขั้นตอนการล้างรถของผมตอนนั้น คือ ผมต้องขับรถไปที่คาร์แคร์แล้วให้ลูกน้องมารับกลับบ้าน เอาล่ะ 1 รอบแล้ว หลังจากที่รถล้างเสร็จ ผมก็ต้องให้ลูกน้องไปส่งที่คาร์แคร์อีก ก็เดินทางเป็น 2 รอบ ผมรู้สึกว่าขั้นตอนมันเยอะจัง แล้วเมื่อ 9 ปีที่แล้ว คาร์แคร์เดลิเวอรี่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ผมเลยลองคิด และออกแบบเล่น ๆ ตอนนั้นคิดแค่ว่า ถ้าเราทำสำเร็จต้องดังแน่ ใคร search google ก็ต้องเจอเรา ผมเลยเริ่มจากการทดลองถามคนใกล้ตัวว่าผมจะเปิดคาร์แคร์เดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่ทำให้หลายคนคิดภาพไม่ออก และมีคำถามตามมามากมาย หลายคนบอกผมตรง ๆ ว่าไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าความฝันของแต่ละคนมันแตกต่างกัน ดังนั้นอย่าให้ความคิดคนอื่นมาหยุดความฝันของเรา จากนั้นผมก็เริ่มลงมือสร้างมอเตอร์ไซค์ตามแบบ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ซึ่งมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ในการให้บริการตอนนี้ก็ได้รับการพัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 6 แล้วครับ อีกอย่างหนึงคือ เนื่องจากช่วงแรกที่เริ่มธุรกิจนี้ ผมลงไปล้างเองลุยเองทำเองทุกอย่าง จึงให้ความสำคัญกับพลังงานของช่างเป็นอย่างมาก ผมต้องหาทุกวิถีทางที่จะช่วยให้ช่างทำงานได้ง่าย เพราะถ้าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่อำนวยความสะดวกให้กับช่างมากพอ จะทำให้ช่างเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น แต่ได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม เลยต้องการอำนวยความสะดวกเพื่อ support การทำงานของช่างให้ดียิ่งขึ้น
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: คุณแบงค์เรียนบริหารธุรกิจ แต่เวลาทำตามความฝันเริ่มต้นบนกระดาษ จนกระทั่งลงสนามจริง มีปัญหาและอุปสรรคมากมาย แม้ไม่ได้จบวิศวะ แต่เป็นคนที่เรียนรู้ ค้นหา ลงมือทำ กล้าที่จะเสี่ยง จนได้โมเดลธุรกิจที่สำเร็จรูปออกมา และพัฒนามาเรื่อยๆ ในจุดนี้เองหากผู้ชมเกิดความท้อแท้ สามารถเรียนรู้จากคุณแบงค์ได้ ในส่วนของการทำการตลาดก็ทราบมาว่าใช้โมเดลเดิม ๆ คือ การแจกใบปลิว แนะนำตัวให้คนรู้จักธุรกิจของเรา ตอนนั้นผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรบ้างครับ?
คุณแบงค์: สมัยนั้น การแจกใบปลิวเป็นการตลาดพื้นฐานที่คิดว่าน่าจะได้ผลนะครับ อย่างการนำใบปลิวไปเสียบตามบ้าน ซึ่งก็ตามนิสัยผม ที่ชอบทำอะไรให้ง่ายขึ้น ดังนั้นจากปกติที่ต้องเดินลงจากรถเพื่อเอาใบปลิวไปเสียบตามรั้วบ้าน ผมก็เปลี่ยนมาเป็นการม้วนใบปลิวแล้วผูกด้วยริบบิ้นสีแดง เพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนัก เพิ่มมูลค่าให้ใบปลิว และเพิ่มความรวดเร็ว จับได้ก็โยนเข้าไปในรั้วบ้านเลยไม่เสียเวลา ผลลัพธ์ที่ได้ มีคนติดต่อมาใช้บริการบ้าง แต่ก็ยังน้อยมากครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: แต่จุดนี้ผมมองว่าสามารถสร้างความน่าสนใจให้แก่เจ้าของบ้านที่เราไปแจกใบปลิวนะครับ เพราะเมื่อมองเห็นของถูกผูกด้วยริบบิ้น คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นของขวัญ เลยหยิบมาเปิดอ่าน ทำให้มีลูกค้าอยู่บ้างแม้จะไม่มากเท่าไร
คุณแบงค์: อย่างที่เคยบอกไปในตอนแรกครับ ว่าธุรกิจนี้ใหม่มากจนคนไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าจะถามว่าทำไมผมถึงมั่นใจว่าจะมีลูกค้าเยอะ ด้วยความที่ผมมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกอบการมาก่อน ทำให้ข้อมูลในหัวเรามีมาก ความภูมิใจมีมาก วิธีคิดอ่านจึงไม่เหมือนกับลูกค้า ซึ่งโดยปกติแล้วลูกค้าจะไม่มีข้อมูล ไม่มีความมั่นใจ หรือความภาคภูมิใจเหมือนกับเรา ลูกค้ามักจะมองเปลือกนอกที่มันง่าย ๆ ก่อน แต่บางทีเรามีความภูมิใจสูง แล้วก็คิดว่าคนอื่นคิดเหมือนเรา ตรงนี้แหละ คือ จุดที่ทำให้ความคาดหวังของเราสูงเกิน
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: จากการที่แจกใบปลิวไปมากมาย เลยคิดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีใช่ไหม?
คุณแบงค์: ใช่ครับ แต่ความจริงแล้วไม่มีเลย ตอนนั้นผมรับพนักงานเข้ามาทำงาน 3 คนแล้วด้วย แต่ไม่มีเงินจ่ายเขา ก็เลยแยกย้ายกันกลับบ้านไป หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำด้วยตัวเอง ยอมรับเลยว่าตอนนั้นไม่มีความสุขเท่าไร เพราะมีแรงต้านค่อนข้างเยอะ ทั้งจากครอบครัวแล้วก็เพื่อน หลายครั้งเจอคำดูถูกจากเพื่อน ทำให้เราไม่สามารถยอมแพ้ได้ กลัวเพื่อนจะล้อ ก็เลยต้องทำต่อไป ช่วงนั้นมีลูกค้าเพิ่มขึ้นนิดหน่อยนะครับ แต่รายได้ก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ช่วงเริ่มต้นธุรกิจแรก ๆ มีทั้งปัญหา และคำสบประมาทมากมายจนถึงกับร้องไห้เลยใช่ไหมครับ?
คุณแบงค์: ใช่ครับ มีครั้งเดียว ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมทำงานด้วยตัวเองคนเดียว ทั้งขับไปบ้านลูกค้าเอง ล้างรถเอง ทำอยู่ประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งมอเตอร์ไซค์รุ่นแรก ๆ มันจะหนักมาก แถมไม่มี google map เหมือนในปัจจุบัน ถึงมีก็ยังใช้งานจริงไม่ได้ ทำให้เวลาเดินทางไปบ้านลูกค้าผมต้องแวะหยุดถามทางตลอด ยิ่งทำให้รู้สึกเครียดและเหนื่อย วันนั้นตอนเช้าผมขับไปล้างรถที่เยาวราช ตอนบ่ายขับไปล้างรถที่ดอนเมือง คนละทิศละทางกันเลย พอขับกลับบ้านตอน 2-3 ทุ่ม ผมเหนื่อยมาก ถอดหมวกกันน็อคออกแล้วเริ่มคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันใช่ไหม แต่อีกใจก็คิดว่าเกมนี้ถ้าไม่เลิกก็ไม่จบ เพราะเกมนี้หากแพ้ก็สามารถรีเซ็ตแล้วเริ่มใหม่ได้ตลอด ทำให้รู้ว่าถ้าใจเสียแล้วกายอย่าทำตามถ้าตามก็จะมีผลโดยทันที เพลงที่มีเนื้อหาให้กำลังใจก็เป็นอย่างหนึ่งที่ช่วยได้ เอาไว้เปิดฟังเวลาท้อ หลังจากนั้นระหว่างทางกลับบ้านต้องผ่านอุโมงค์ ผมก็ตะโกนออกไปเสียงดังว่า “จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้” พอลอดพ้นอุโมงค์ออกมาก็ร้องไห้ออกมาเองแบบไม่ได้ตั้งใจ และหลังจากนั้นก็ไม่เคยคิดจะเลิกทำอีกเลยครับ จากเหตุการณ์นั้นไม่ถึงหนึ่งเดือน ก็มีจุดเปลี่ยนบางอย่างเกิดขึ้น
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: สำหรับคนที่มีความมุ่งมั่นพยายามแล้วต้องการไปให้ถึงจุดหมาย ยังไงฟ้าก็เป็นใจ วันนั้นมีลูกค้าใช่ไหมครับ ที่เข้ามาพลิกชีวิต ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ?
คุณแบงค์: อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ครับ ปัจจัยหลัก คือ ธุรกิจใหม่เกินไปจนคนไม่รู้จัก ไม่ยอมรับ และไม่ไว้วางใจ วันนั้นมีโทรศัพท์สายหนึ่งเข้ามา ให้ไปล้างรถที่สุขุมวิท 3 คัน ตอนนั้นผมก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ก็รับงานไปตามปกติ แต่ปรากฏว่าไปถึงแล้วพบว่ารถที่ไปล้างมีแต่รถราคาแพง เช่น Ferrari Lamborghini แล้วผมก็ถ่ายรูปรถที่ล้างคู่กับมอเตอร์ไซค์ที่ขี่ไปล้าง ก่อนหน้านี้ผมทำเพจ Facebook แล้วทำการ tag เพื่อน ซึ่งลูกค้าที่โทรมาก็มาจากการเห็นโพสต์ที่ผม tag เพื่อนนั่นแหละ แต่ไม่แนะนำให้ทำนะครับ เพราะตอนนั้นผมทำไปแล้วก็โดนเพื่อนต่อว่ากลับมาบ้างเหมือนกัน หลังจากผมให้บริการลูกค้าในวันนั้น ลูกค้าคนนี้ก็แนะนำเพื่อนที่ใช้รถ Supercar มาให้ ซึ่งทำให้เราได้รับความน่าเชื่อถือไปด้วย ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนในการทลายความเชื่อของลูกค้าว่าบริการนี้ดีหรือไม่ดี
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: หลังจากนั้นมีการกระจายข่าวสารไปทางออนไลน์ ทำให้มีทีวี นิตยสาร หนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ใช่ไหมครับ?
คุณแบงค์: หลังจากเริ่มมีลูกค้าเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ก็เริ่มมีรายการ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ ติดต่อเข้ามา ทำให้โปรไฟล์ของธุรกิจผมดูดีขึ้น แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ เกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ เพราะที่นี่เป็นเหมือนที่จุดประกายให้ช่องอื่น ๆ มองเห็น ผมขอขอบคุณทุกช่องทุกสื่อ ซึ่งผมน่าจะเอ่ยชื่อได้ไม่หมด รวมสื่อทั้งหมดที่ผมได้ไปให้สัมภาษณ์น่าจะประมาณ 80 แห่งครับ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: จากจุดเปลี่ยนวันนั้นมาจนถึงวันนี้ เชื่อว่ากำลังใจ และวิธีคิดของคุณแบงค์ต้องไม่เหมือนใคร อยากทราบว่าเวลาเจออุปสรรค หรือปัญหา มีมุมมองหรือวิธีคิดอย่างไรในการก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นครับ
คุณแบงค์: กระบวนการคิดของผมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เจอเป็นหลัก แต่สิ่งที่เป็นแกนหลักที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ และสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ คือ ตัวเอง ผมคิดเสมอว่าถ้าชีวิตของผมจะเปลี่ยนมีแค่ผมเท่านั้นที่เป็นคนเลือก และกำหนดเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำต่อหรือยอมแพ้ก็ตาม ถ้าธุรกิจเรายังมีช่องทางไปได้ต่อ แนวคิดนี้จะใช้ได้เสมอ
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็น Novel พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จาก Car Wash เป็น Car Care ผมได้ยินมาว่า Novel มีการพัฒนาสูตรน้ำยาดูแลรักษารถด้วยตัวเองด้วยใช่ไหมครับ?
คุณแบงค์: น้ำยาดูแลรักษารถแบรนด์ Zeus เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับแบรนด์ Novel เลยครับ น่าจะช้ากว่าแค่ประมาณ 1 ปี อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ว่าผมให้ความสำคัญกับพลังงานของช่าง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ หรือน้ำยาที่ใช้ ก็จะต้องใช้งานง่าย และให้ผลดีชัดเจน กลายเป็นว่าลูกค้ามาเห็นแล้วชอบ ก็มีซื้อน้ำยาไปทำเองบ้างเหมือนกัน
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: อันนี้ก็เป็นการต่อยอดธุรกิจนอกจากงานบริการที่ทำ ด้วยการปล่อยสินค้าคุณภาพออกมาขายเพิ่มเติม ไม่ทราบว่าวางแผนอนาคตของ Novel ไว้อย่างไรบ้างครับ?
คุณแบงค์: ตอนแรกตั้งใจว่าปีนี้จะขยายสาขาไปต่างจังหวัดด้วยตัวเองครับ เพราะก่อนหน้านี้มีหลายคนเคยซื้อเฟรนไชส์ไปแล้วไม่ทำต่อ หรือบางรายก็ไม่ทำตามสิ่งที่เราบอก ทำให้ผมรู้สึกเสียใจว่าเขาไม่ได้รักธุรกิจนี้แบบเดียวกับที่ผมรัก หลังจากนั้นไม่ว่าใครมาขอซื้อผมก็เลยไม่ขาย ตั้งใจจะขยายสาขาเอง แต่ว่าในปีนี้อาจจะต้องเลื่อนไปก่อนเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่ในอนาคตถ้ามีระบบการควบคุมที่ดีกว่านี้มารองรับก็อาจจะขาย
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนท้อ และหมดกำลังใจ มีคำแนะนำที่อยากจะฝากไปยังผู้ประกอบการณ์ในขณะนี้บ้างครับ
คุณแบงค์: อยากให้กำลังใจ เพราะว่าวิกฤตของแต่ละคนนั้นมีความเครียดไม่เท่ากัน ให้พยายามอย่ามองว่าตัวเองโชคร้าย เพราะยังมีคนที่โชคร้ายกว่าเราอีกมาก จากวิกฤตตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านไปคุณอาจจะรู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ต้นทุนลดลง และได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หากเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ก็ให้นำมาปรับใช้ แต่อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็พยายามปล่อยวาง และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ให้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่อย่าเพิ่งยอมแพ้
คุณวิชัย ผู้ดำเนินรายการ: ขอคำคมสักข้อหนึ่ง
คุณแบงค์: “จงเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต แล้วชีวิตจะไม่เจอทางตัน” อย่าทะนงตนว่าเก่ง ตนเองรู้หมดแล้ว นี่คือ มหันตภัยทางความคิด เพราะจะทำให้เราหยุดพัฒนาตัวเอง หรืออาจจะแปลว่าเราไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำไป ในช่วงโควิด-19 แบบนี้ มีเวลาเยอะให้กลับมาพัฒนาตัวเอง เราขาดทักษะอะไรให้พัฒนาเรื่องนั้น ซึ่งทักษะสำคัญในการทำธุรกิจที่ควรมีตอนนี้ ได้แก่ ทักษะการขาย จิตวิทยาลูกค้า ต้องทำภาพ และวิดีโอได้ดี ต้องสร้างคอนเทนต์ให้เป็น
หากเรารู้จักปรับตัว รู้จักพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ในวันที่เรามีความรู้เพิ่มขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะสามารถนำความรู้ และประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหา และพัฒนาต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
**ผู้สนใจชมรายการ ICHI TALK ในตอนของคุณแบงค์ ชนม์ชลิต ดีมี สามารถลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI เพื่อเข้าชมย้อนหลังใน Community Zone ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป