2021.09.13

ICHI

【ICHI TALK】เขาคนนี้ทำอย่างไร? คนไทยจึงเปิดใจอ่าน E-Books

เขาคนนี้ทำอย่างไร? คนไทยจึงเปิดใจอ่าน E-Books

รายการใหม่ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ

โดย ICHI TALK ในตอนที่ 3 เรามีโอกาสสัมภาษณ์คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO แห่ง Ookbee ผู้บุกเบิกตลาด E-Books รายแรกในไทย

สัมภาษณ์โดย คุณวิชัย วรธานีวงศ์ ผู้ดำเนินรายการจาก คลื่น FM 96.5

พิธีกร: ขอต้อนรับ คุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO และ Co-founder แห่ง Ookbee  ซึ่งผวนมาจากคำว่า E-book หนึ่งในสตาร์ทอัพชั้นนำของประเทศ ทราบมาว่าช่วงนี้ก็เหนื่อยอยู่เหมือนกันใช่ไหมครับ

คุณณัฐวุฒิ: สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทที่ลงทุนไว้ เช่น บริษัทท่องเที่ยว ก็มีปัญหากันหมดครับ

พิธีกร: ทราบมาว่าชื่นชอบคอมพิวเตอร์ อยากให้เล่าถึงเสน่ห์ของคอมพิวเตอร์ที่ทำให้กลายเป็นหนึ่งในอาชีพของตนเองในปัจจุบัน

คุณณัฐวุฒิ: ผมเป็นเด็กที่ชอบเล่นเกม อยากรู้ว่าเกมสร้างอย่างไรจึงเริ่มเรียนเขียนโปรแกรม โดยไม่ได้เรียนแค่เล่น ๆ แต่เรียนถึงระดับที่สามารถเขียนโปรแกรมสร้างเกมได้ จนกลายมาเป็นงานอดิเรก และต่อยอดมาเป็นอาชีพในที่สุด

พิธีกร: ทราบว่าตอนอายุ 10 ขวบได้ไปเรียนที่โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ ไม่ทราบว่าตอนนั้นเป็นการเรียนเขียน coding เลยรึเปล่าครับ

 

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ แต่เป็นภาษาพื้นฐานง่าย ๆ เนื่องจากสมัยก่อนคอมพิวเตอร์มีราคาค่อนข้างสูงจึงไปเรียน และใช้ของทางโรงเรียนไปก่อน เมื่อสามารถใช้เป็นแล้วจึงขอให้ที่บ้านช่วยซื้อให้

พิธีกร: การเขียนโปรแกรมเองเป็นการค้นพบตัวเองในอนาคตไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ ค้นพบว่าเราชอบ และมีทักษะทางด้านนี้ ซึ่งก็คือการคิดอย่างเป็นระบบ และคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะถนัด

พิธีกร: ถ้าหากว่าเราคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลก็จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ ทุกวันนี้ก็ใช้วิธีนี้ในการทำธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยคิดให้เป็นหลักวิศวะ เช่น หากมีปัญหาเดิมเกิดขึ้นซ้ำ ๆ แทนที่จะเพิ่มคนเข้าไปแก้ ก็จะสร้างโปรแกรมหรือระบบแบบง่าย ๆ ขึ้นมาใช้ในบริษัท ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

พิธีกร: การศึกษาในระดับปรัญญาตรี เลือกเรียนวิศวะการบินที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และต่อปริญญาโทสาขา วิศวกรรมอุตสาหการ และระบบที่ AIT ไม่ทราบว่าตอนนั้นสนใจอยากเป็นนักบินเหรอครับ

ณัฐวุฒิ: จริงๆแล้วแค่เห็นว่าเท่ดี แต่ในระหว่างนั้นก็ทำงานพิเศษเป็นการรับจ้างเขียนโปรแกรม แต่ตอนที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยก็คิดว่าเราก็เขียนโปรแกรมพอเป็นอยู่แล้ว หากเรียนสาขาอื่นก็น่าสนใจดี

พิธีกร: ทราบว่าในขณะที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้รับจ้างประกอบคอมพิวเตอร์ด้วย รายได้ดีไหมครับ

ณัฐวุฒิ: เมื่อก่อนไปทำงานอยู่ที่พันธุ์ทิพย์ได้เครื่องละ 75 บาทครับ คอมพิวเตอร์สมัยก่อนจะขายเป็นชิ้นส่วนแล้วก็ต้องไปประกอบ ผมก็ทำหน้าที่ประกอบคอมพิวเตอร์และลง windows ครับ ก็ทำอยู่หลายเทอม แต่ช่วงหลังพอรับจ้างเขียนโปรแกรมก็ไม่ค่อยมีเวลาไปทำ

พิธีกร: สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานเสริมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตต่อไปได้ใช่ไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ อย่างแรกก็คือการหารายได้ด้วยตัวเอง อีกอย่างการเขียนโปรแกรมก็เป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการ เพราะในตลาดผู้ที่มีทักษะเช่นนี้มีน้อย

พิธีกร: ในขณะที่เรียนทั้งปริญญาตรีและโท เคยคิดว่าจบมาจะเข้าทำงานเป็นลูกจ้างไหมครับ ทำไมหลังเรียนจบแล้วจึงไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้าง แต่เริ่มทำธุรกิจเลย

 

ณัฐวุฒิ: เคยคิดว่าอยากไปทำงานบริษัทชื่อดังต่าง ๆ ที่เคยได้ยิน และเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ก็จะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ โดยเพื่อน ๆ ที่เป็นหุ้นส่วนของ Ookbee ก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา ทำงานในซิลิคอนวัลเล่ย์ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำงานที่ Ookbee ซึ่งตอนที่เห็นเพื่อนไปเรียนตนเองก็อยากไปเรียน และทำงานแบบเพื่อนเช่นกัน แต่เนื่องจากตอนนั้นเริ่มทำธุรกิจแล้ว กอปรกับความคิดที่ว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ตนเองก็อยากทำธุรกิจมากกว่าอยู่ดี ทำให้พอเรียนจบมาก็เปิดบริษัทแล้วก็ทำมาจนถึงปัจจุบัน

พิธีกร: เทคนิคในการหาโอกาสทางธุรกิจในแต่ละช่วงชีวิต มีวิธีมองหรือการคิดยังไงบ้าง

ณัฐวุฒิ: สิ่งที่ทำเป็นประจำคือ การลองทำเมื่อมีโอกาส แม้ไม่สำเร็จก็จะได้ความรู้ และประสบการณ์ และถ้ามีเวลาก็จะหาโอกาสใหม่ ๆ ได้ เช่น เมื่อก่อนตอนอยู่ IT Works ก็เขียนโปรแกรมบนมือถือ ก็มาลองทำ และกลายเป็นโปรเจคใน IT Works และก็กลายมาเป็น Ookbee เมื่อได้รับเงินทุนจากเหล่านักลงทุนก็ไปศึกษาวิธีการลงทุนของนักลงทุนในสตาร์ทอัพ ก็เลยกลายมาเป็น 500 ตุ๊กตุ๊ก รวมไปถึงเทคโนโลยีสกุลเงินคริปโต หรือบล็อกเชนที่ได้มาลองทำโปรเจ็คเป็นบริษัทซิสเน็ตเวิร์ค ซึ่งเหล่านี้เกิดมาจากความอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง และได้ลองทำด้วย

พิธีกร: เพราะอะไรการลงมือทำจึงสำคัญกว่าการแค่มีการตลาดและไอเดียที่แตกต่าง

ณัฐวุฒิ: หากไม่ลงมือทำก็จะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการลงมือทำไม่ใช่เรื่องยากเพียงแค่ต้องเริ่ม ทั้งยังทำให้เราเห็นตัวอย่าง และโอกาสต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องงาน เรื่องการออกกำลังกาย การคิด หรือเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตก็เช่นกัน ในครั้งแรกจะรู้สึกว่าออกจาก comfort zone แต่เมื่อทำจนเป็นนิสัยมันจะเป็นนิสัยที่ดีติดตัวเราไป

พิธีกร: อยากทราบมุมมองเกี่ยวกับความล้มเหลว

ณัฐวุฒิ: ความล้มเหลว คือ ส่วนหนึ่งของธุรกิจ เพียงแค่ว่าเวลาล้มเราต้องล้มเล็ก ๆ

พิธีกร: วิธีคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นจุดยืนของสตาร์ทอัพไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ ก็ตั้งเป้าหมายให้เล็ก ๆ ในระดับ สัปดาห์ ทำให้ถ้าล้มหรือพลาดก็จะเป็นการพลาดแบบเล็ก ๆ แต่ถ้าหากเป็นเป้าหมายใหญ่ระดับปี หรือเดือน เวลาล้มก็จะเหนื่อย และเสียเวลาเยอะ เลยต้องทำทีละนิด

พิธีกร: พูดถึงเรื่องเหนื่อย ตอนทำ IT Works เหนื่อยมากใช่ไหมครับ เหมือนว่าต้องเอาบ้านเอารถไปแลกเงินเพื่อจ่ายเงินเดือนลูกน้องเลยใช่ไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ครับ เพราะเมื่อก่อนไม่มี VC ครับ เทรนด์สตาร์ทอัพทุกวันนี้เจ้าที่เติบโตมาใหญ่ ๆ ก็จะมีนักลงทุนมาลงทุน หากว่าเก่งจะมีนักลงทุนมาลงทุนให้ตั้งแต่แรกๆ

พิธีกร: ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ประสบมาตั้งแต่สมัย IT Works มีผลต่อการเกิดขึ้นของ Ookbee ไหม

ณัฐวุฒิ: ก็มีครับ ทุกวันนี้สิ่งที่หายากที่สุดคือคนเก่ง ๆ Ookbee เกิดมาได้เพราะ IT Works มีประสบการณ์ ทีมงานโปรแกรมเมอร์ก็อยู่ในวงการ เขียนโปรแกรมเป็นอยู่แล้ว ถ้าเราจะเปิดสตาร์ทอัพ การจะหาทีมให้ได้ 5หรือ 10 คนในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะว่าตอนนี้ในตลาดมีการแข่งขันกันเต็ม และ IT Works รันมานานแล้วทีมก็แข็งแรง แล้วก็มีประสบการณ์ทำให้ Jumpstart ไปได้เร็ว

 

พิธีกร: ทำไมถึงมั่นใจว่า Ookbee จะประสบความสำเร็จในตลาดบ้านเรา

ณัฐวุฒิ: โดยส่วนตัวก็เป็นผู้ใช้งานของเหล่านี้อยู่แล้ว ช่วงนั้นก็เริ่มเขียนโปรแกรม และรู้สึกว่าทุกประเทศเริ่มมีแล้ว เช่น อเมริกามีคนอ่าน Kindle ซึ่งก็มีความคิดว่าคนไทยก็ต้องมีคนที่อ่าน E-book เช่นเดียวกัน  ซึ่งเราก็ลองทำขนาดเล็ก ๆ ก่อน และพอเริ่มมีคนซื้อใช้ และได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ ก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีเลยค่อย ๆ ขยายธุรกิจขึ้นมาจนได้เปิดเป็นบริษัท

พิธีกร: ในการไปโน้มน้าวผู้ใจคนว่าสื่อกระดาษจะมาอยู่บนแท็บเล็ต ต้องอธิบายเยอะไหมกว่าที่อีกฝ่ายจะเข้าใจ และยินดีที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์ของเรา

ณัฐวุฒิ: เฉพาะไม่กี่เดือนแรกครับ เพราะกระแสเหล่านี้มาเร็ว พอหาลูกค้าได้เจ้าสองเจ้า แล้วเค้าเห็นคู่แข่งเค้าทำ ก็จะอยากทำด้วย แล้วโมเดลของเราไม่ได้เสียค่าใช่จ่าย ถ้าขายได้ก็แบ่งกัน จึงทำให้มันเติบโตขึ้นมาเร็ว

พิธีกร: การสร้าง Brading ในการเปิดใจคนอ่าน โดยเฉพาะชาวไทย ทำยังไงให้เค้าสนใจเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ครับ

ณัฐวุฒิ: ก็แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือกลุ่มลูกค้า เราก็จะโน้มน้าวใจด้วยการบอกข้อดีของ E-book เช่น ราคาถูกกว่า ไม่รกบ้าน ส่วนที่สองก็เรื่องราคา เนื่องจากเป็นหนังสือดิจิทัลจึงมีราคาถูก และพอมีผู้ใช้มากขึ้นก็มีการบอกกันปากต่อปาก ในส่วน

ของพาร์ทเนอร์ชิป เราก็ไปเวิร์คกับพวก เทลโก้ และบริษัทอื่น ๆ ช่วยกันโปรโมทจนเกิดเป็นกระแส มีลูกค้าทำให้ธุรกิจเติบโตมาเรื่อย ๆ ครับ

พิธีกร: เคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ Ookbee อยู่ในใจคนไทย และสามารถขยายตลาดไปยังแถบอาเซียนน่าจะมาจากอะไรครับ

ณัฐวุฒิ: อย่างแรก คือ กระแสของเทคโนโลยี สมัยที่สร้าง Ookbee เป็นช่วงที่มีการพัฒนาสมาร์ทโฟน เราเองก็เลยเติบโตไปตามตลาดของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพรามีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดมันก็โตขึ้นจนถึงจุดหนึ่งทุกคนก็ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เรื่องที่สองก็คือเราก็ เนื่องจากในปัจจุบัน Ookbee ไม่ได้เป็นตลาดใหญ่ เทคโนโลยีก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมอยู่เสมอ ปัจจุบันบริษัท Ookbee เป็นธุรกิจ E-book ประมาณสัก 10% ส่วนที่เหลือก็กลายเป็นพวกการ์ตูน นิยาย ซึ่งเราก็ต้องคอยปรับตัวตามตลาด รวมถึงขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วยครับ

พิธีกร: Ookbee แต่เดิมเป็นคอนเทนต์ที่มาจากผู้ผลิต พาร์ทเนอร์ อย่างค่ายหนังสือต่าง ๆ โดยตรง ปัจจุบันครีเอเตอร์หรือผู้อ่านก็สามารถสร้างคอนเทนต์ได้ใช่ไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ คนอ่านถ้าใครอยากจะเขียนกดปุ่มเขียนก็จะสามารถเข้าไปเขียนได้ หากต้องการจะไลฟ์สตรีมหรืออัดเสียงก็สามารถทำได้เช่นกัน

พิธีกร: ในองค์กรของ Ookbee มีบุคลากรคุณภาพที่เป็นคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก อยากทราบว่าคนที่อายุมากสุดและน้อยที่สุดห่างกันเยอะไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ถ้าเยอะที่สุดก็ผมนี่แหละครับ ประมาณ 40 กว่า แต่อายุเฉลี่ยของคนในบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 25-27 ปี

พิธีกร: เห็นว่า มีการเปิดโอกาสทางความคิดให้พนักงานอย่างเต็มที่

ณัฐวุฒิ: ใช่ครับ เดี๋ยวนี้เป็นยุคใหม่ ต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้เก่งกว่าเรา ก็คือเรื่องความรู้ เค้าเป็นดิจิทัลเฟิร์ส แล้วก็เติบโตมากับดิจิทัล ความรู้ของเค้าเรื่องเทรนด์ใหม่ ๆ อย่างเช่นโปรแกรมที่ Ookbee ทำใหม่เป็นโปรแกรมของคนรุ่นใหม่ครับ ผมเองถึงจะรู้เรื่องโปรแกรมแต่ไม่รู้ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นที่ก็ต้องพึ่งน้อง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอื้อให้เค้ามีโอกาสแสดงความคิดเห็น

พิธีกร: ในมุมของการเป็นสตาร์ทอัพเชื่อว่าหลาย ๆ คนใฝ่ฝันที่จะประสบความสำเร็จ พอจะเล่าถึงความสำเร็จของ Ookbee ให้ฟังได้ไหมครับ

ณัฐวุฒิ: ปกติสตาร์ทอัพก็ต้องพยายามที่จะเติบโต และสร้างไม่รายได้ก็จำนวนผู้ใช้ขึ้นอยู่กับธุรกิจ นักลงทุนมีเยอะครับทั่วโลก เพียงแค่ว่าหลาย ๆ ครั้งสเกลของการลงทุนเหล่านี้เค้าก็ต้องมองหาบริษัทที่คิดว่าเติบโตแล้วไซส์พอ ในฐานะสตาร์ทอัพ เรามีหน้าที่อยู่อย่างเดียว คือ ทำยังไงก็ได้ให้ธุรกิจเราเติบโต เสร็จแล้ว CEO ก็ต้องไปเล่าเรื่องหล่านี้ให้นักลงทุนเขาเข้ามาครับ

พิธีกร: เมื่อโครงสร้างของธุรกิจแข็งแรงแล้วก็ผันตัวเองจากสตาร์ทอัพเป็นเวนเจอร์แคปปิตอลในนามของ 500 ตุ๊กตุ๊ก เล่าบรรยากาศ ความรู้สึกและเป้าหมายให้ฟังสักหน่อยได้ไหมครับ

ณัฐวุฒิ: เริ่มจากที่ผมเป็นนักธุรกิจที่ใช้เงินตัวเอง แต่พอทำ Ookbee มาก็เริ่มได้ VC ซึ่ง Ookbee ได้ VC เป็นเจ้าแรกของเมืองไทย พอเราได้มาก็เลยเข้าใจว่ามันเป็นจุดเปลี่ยน เพราะว่ามันทำให้บริษัทมีเงินทุนที่สามารถทำมาใช้พัฒนาเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ณ. เวลานั้น พอเข้าใจโมเดลแล้วก็ลองนำเงินเก็บของตัวเองไปลงทุนกับ VC ในต่างประเทศก่อน ก็คือ 500 สตาร์ทอัพในต่างประเทศ ไปดูว่าเค้าทำยังไง อีกสักปีนึงพอเข้าใจว่าเค้าทำยังไงก็เอามาทำด้วยกันกับทีม ระดมทุนจากนักลงทุนในเมืองไทย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกไฮเน็ดเวิร์ค โดยที่ตัวผมเป็นคนบริหาร ซึ่งผมก็จะใส่เงินของตัวเองลงไปด้วย มีชื่อว่า 500 ตุ๊กตุ๊ก ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาก็ลงทุนไป 85 บริษัทแล้ว เรียกว่าสตาร์ทอัพใหญ่ ๆ ในเมืองไทยก็อยู่ในกองทุนเราหมด

 

พิธีกร: การลงทุนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ให้ทุนคงต้องศึกษาหนัก ๆ เลยว่าจะให้ใคร

ณัฐวุฒิ: ลงทุนกับสตาร์ทอัพ เป็นบริษัทเล็กกว่าบริษัทในตลาดหุ้น ไม่มีรายได้ หากไปไม่รอดก็ใช่ว่าจะขายได้ เพราะฉะนั้นความเสี่ยงจะสูงมาก ซึ่งการป้องกันคือต้องเลือกให้ดี และต้องกระจายความเสี่ยง

พิธีกร: ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านที่มีโควิด มีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจมีผลต่อตัวธุรกิจหรือลูกค้าอย่างไร

ณัฐวุฒิ: เนื่องจากธุรกิจของเราเป็นออนไลน์ ก็จะมีส่วนที่ได้รับผลกระทบและส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อเกิดการล็อคดาวน์อาจจะมีผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ผู้คนระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น ต้องบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเราส่วนใหญ่ก็เป็นของฟุ่มเฟือย ไม่ได้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นว่าการใช้จ่ายลดลงแต่มีเวลามาใช้มากขึ้น แต่ก็มีบางธุรกิจที่เป็นออฟไลน์ เช่น บริษัทฟังใจ เป็นบริษัทจัดคอนเสิร์ต ก็ไม่มีรายได้มาสองปีแล้ว Ookbee เนี่ยพอทำ UCG รายได้หลักส่วนหนึ่งก็มาจากค่าโฆษณา แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มชะลอตัวในการลงโฆษณา วิธีการจัดการของเราก็คือ การเปลี่ยนแผนงาน ในส่วนที่กระทบเยอะ ๆ ก็คือบริษัทที่เราไปลงทุน ซึ่งส่วนที่เราเชื่อมั่นมาก ๆ เลย คือ การท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะฉะนั้นจะมีสตาร์ทอัพที่ทำด้านการท่องเที่ยวเยอะเลย ทุกวันนี้บริษัทเหล่านี้หลาย ๆ ตัวก็ต้องหยุดไป ปิดกิจการไป หรือพักไป ก็ต้องมาดูว่าพอกลับมาจะสามารถฟื้นฟู segment นี้ในส่วนของสตาร์ทอัพการท่องเที่ยวได้หรือไม่

 

พิธีกร: รบกวนฝากข้อคิดถึง คำแนะนำถึงเหล่าผู้ทำสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการที่ตอนนี้กำลังเจอปัญหาหนัก ว่าควรจะต้องคิด หรือทำอย่างไร

ณัฐวุฒิ: สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว มันเกิดกับทุกคน เพราะฉะนั้นทั้งเรา และคู่แข่งก็เป็นเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้อาจจะมองว่ามันเป็นโอกาสด้วยซ้ำ ว่าจะสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ไหม อย่างที่สองคือ อยู่บ้านก็มีเวลา มันมีการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง คือ การลงทุนในตัวเราเอง ด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ หรือทำให้ร่างกายแข็งแรง

**ผู้สนใจชมรายการ ICHI TALK ในตอนของคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์  สามารถลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI เพื่อเข้าชมย้อนหลังได้ใน Community Zone