【Bigbeat LIVE ASEAN Vol.1】
เหตุผลสู่การเปิดร้านแอนเทน่าและคาเฟ่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างมารุโคเมะและจังหวัดนากาโนะในกรุงเทพมหานคร
มารุโคเมะจัดตั้งบริษัท มารุโคเมะ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2013 เพื่อเป็นฐานในการนำเข้าส่งออก รวมถึงค้าส่งสินค้าประเภทเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นและหัวเชื้อ (โคจิ) เดิมทีบริษัทมารุโคเมะจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยผ่านตัวแทนมาแล้วนานเกือบ 40 ปี ก่อนตัดสินใจขยายธุรกิจแบบจริงจังด้วยแนวคิดที่ว่า “ถึงเวลารับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคโดยตรงเพื่อตอบสนองความต้องการได้ตรงจุด” และนำมาสู่การเริ่มต้นธุรกิจแนวใหม่ซึ่งแตกต่างจากที่เคยทำมาในประเทศญี่ปุ่นของบริษัท มารุโคเมะ (ประเทศไทย) จำกัด อาทิ จัดตั้งร้านแอนเทน่าโดยร่วมมือกับจังหวัดนากาโนะ เปิดคาเฟ่ซึ่งมีเหล้าหวานหรืออามาสาเกะให้ลิ้มลอง โดยครั้งนี้ประธานบริษัทสาขาประเทศไทย คุณยามาโมโตะ โยชิฮิโระ และคุณเฮตะ ทาเคชิจากบริษัท MonstarHub (Thailand) ผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซในกรุงเทพมหานครจะมาบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้ฟังแบบละเอียด
จุดเริ่มต้นสู่การก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยของมารุโคเมะ
เมื่อพูดถึงมารุโคเมะต้องนึกถึงเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น เมื่อพูดถึงเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นต้องนึกถึงมารุโคเมะ เรียกได้ว่าสำหรับคนญี่ปุ่นทุกคน ภาพ ‘เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น’ กับมารุโคเมะแทบจะเป็นของคู่กัน จนบางคนก็เข้าใจผิดคิดว่ามารุโคเมะผลิตแค่เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น มารุโคเมะจึงเริ่มคิดถึงการขยายฐานการตลาดในวงกว้างมากขึ้นแทนที่จะหยุดอยู่แค่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในเว็บไซต์ของมารุโคเมะเองก็มีเขียนเอาไว้ว่า แม้ “วัฒนธรรมเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นและหัวเชื้อโคจิ“ จะยังแพร่หลายไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในโลก ทว่าปริมาณการส่งออกเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ยุโรป เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือโอเชียเนีย ทวีปอเมริกา ล้วนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา
มารุโคเมะจึงตัดสินใจจัดตั้งบริษัท มารุโคเมะ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2013 เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารประเภทหมัก โดยมีเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นเป็นผลิตภัณฑ์หลักสำหรับตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเดิมที่เคยทำแค่เพียงจำหน่ายวัตถุดิบอาหารประเภทหมักในราคาส่งสู่ตลาดเอเชียผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี โดยคุณยามาโมโตะ โยชิฮิโระผู้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทและกรรมการผู้จัดการบริษัทมารุโคเมะ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เมื่อเราสร้างตลาดขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่เราควรปรับเปลี่ยนสู่การจำหน่ายตรงเพื่อติดตามผลตอบรับของตลาดและผู้บริโภค นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย”
ก่อนหน้านี้ คุณยามาโมโตะเคยทำงานอยู่ในแผนกงานต่างประเทศของบริษัท อิโตเอ็น ซึ่งโด่งดังในเรื่องชา หลังจากก่อตั้งบริษัท อิโตเอ็น (ประเทศไทย) ขึ้นในปี ค.ศ. 2013 และบุกเบิกตลาดชาเขียวไม่มีน้ำตาลจนประสบผลสำเร็จ จึงย้ายมาทำงานกับมารุโคเมะเมื่อ ค.ศ. 2016 หากนับรวมระยะเวลาทำงานในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันก็จะเท่ากับ 9 ปีพอดี เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณยามาโมโตะอธิบายว่า “เหมือนชะตาชี้นำเลยครับ เพราะแนวคิดของมารุโคเมะซึ่งอยากหันมาลุยตลาดขายตรงกับประวัติการทำงานของผมเข้าคู่กันพอดิบพอดี ผมจึงได้เข้ามาคุมบังเหียนด้านการบริหารของมารุโคเมะอย่างเช่นที่ทำอยู่ตอนนี้”
ผู้รับหน้าที่พิธีกรสัมภาษณ์คุณยามาโมโตะในครั้งนี้ ก็คือคุณเฮตะ ทาเคชิจากบริษัท MonstarHub (Thailand) ผู้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านไอทีรวมถึงให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซในกรุงเทพมหานคร โดยคุณฮาเตะได้ตั้งคำถามอย่างนอบน้อมกับคุณยามาโมโตะผู้พำนักอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีประสบการณ์บุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ว่า “อยากให้เล่าถึงความตั้งใจในการมาเปิดธุรกิจในประเทศไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจแบบเป็นรูปธรรมของมารุโคเมะสักเล็กน้อย”
“หากพูดกันตามหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท ธุรกิจของเราก็คือนำเข้าและจัดจำหน่าย/ส่งออก นำสินค้าจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายแบบค้าส่งตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ โรงงานแปรรูปอาหาร ร้านอาหาร ขณะเดียวกันก็ส่งสินค้าออกไปยังประเทศข้างเคียง เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ข้อดีสูงสุดของการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยก็คือ ทำเลที่ตั้ง เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน มีพรมแดนเชื่อมติดกับประเทศอื่นทำให้การขนส่งสินค้าออกไปยังประเทศข้างเคียงค่อนข้างสะดวก จุดนี้ถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยแท้ นอกจากนี้ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นยังมีความสนิทสนมแน่นแฟ้นต่อกัน ทำให้มีทั้งบรรดาร้านอาหารญี่ปุ่น ทั้งบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือของญี่ปุ่นอยู่มากมาย วัฒนธรรมอาหารการกินน่าสนใจ ผู้คนเป็นมิตรน่าคบหา เรียกได้ว่าพร้อมสรรพด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาครับ”
การจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและก้าวเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนจำหน่ายโดยตรงด้วยตัวเอง ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงกับรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท มารุโคเมะ (ประเทศไทย) ไม่น้อยเช่นกัน จากคำบอกเล่าของคุณยามาโมโตะ ทำให้ทราบว่าจุดที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นชัดที่สุดก็คือ “บริษัทมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ซื้อสุดท้าย ซึ่งในที่นี้หมายถึงลูกค้าโดยตรง” ขณะเดียวกันคุณยามาโมโตะยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “หากคุณทำงานในฐานะผู้ผลิตสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคคุณจะเข้าใจ เมื่อมีบริษัทตัวแทนจำหน่ายมากหน้าหลายตาแทรกเข้ามาอยู่ตรงกลาง เหตุการณ์อย่างเช่น ‘เสียงจากผู้บริโภคส่งมาไม่ถึง’ ย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง จริงอยู่ว่าเราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านทางบริษัทคู่ค้า ทว่าโจทย์คำถามและปัญหาต่าง ๆ ย่อมไม่ถูกถ่ายทอดมาถึงเราโดยตรง แต่เมื่อเปลี่ยนสู่การเป็นผู้จัดจำหน่ายเสียเอง คำถามและปัญหาจะวิ่งเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว ทำให้เรามองเห็นปฏิกิริยาตอบรับจากกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น ปัญหาอาทิ ราคาสินค้าไม่เสถียร ตั้งราคาสินค้าสูงเกินก็จะหมดไป”
ธุรกิจของมารุโคเมะในประเทศไทยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนคุณยามาโมโตะอาสาเป็นโต้โผเปิดบริการร้านแอนเทน่ากับคาเฟ่ด้วย โดยปัจจุบันมีสาขาในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 4 สาขาด้วยกัน
ร่วมกับจังหวัดนากาโนะเปิดร้านแอนเทน่า เพื่อส่งเสริมกลุ่มธุรกิจในจังหวัดเดียวกันซึ่งมีความประสงค์จะขยายกิจการมายังประเทศไทย
เกี่ยวกับคำถามที่ว่า “ทางบริษัทใช้ร้านแอนเทน่ากับคาเฟ่ในการจำหน่ายสินค้าประเภทใดบ้าง?” ของคุณเฮตะ คุณยามาโมโตะตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ทางด้านของร้านแอนเทน่านี้ก็เป็นไปตามชื่อเลยครับ ที่นี่จะทำหน้าที่เสมือนร้านค้าเพื่อนำเสนอสินค้าและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มาใช้บริการเป็นหลัก”
แต่กระนั้น แทนที่จะปิดป้ายชื่อของร้านแอนเทน่าว่า “มารุโคเมะ” ก็เปลี่ยนมาเป็น “ฮัคโคลาโบะ” อ่านชื่อแล้วรู้ทันทีว่าร้านนี้จำหน่ายสินค้าและอาหารประเภทหมักดองซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสินค้าดาวเด่นของบริษัท มารุโคเมะ อีกจุดเด่นหนึ่งของร้านแอนเทน่านี้ก็คือ ป้ายที่เขียนระบุว่า “ฮัคโคลาโบะ x มารุโคเมะ x จังหวัดนากาโนะ” เพื่อเน้นย้ำให้ผู้เข้ามาใช้บริการตระหนักว่าร้านนี้จับมือทำโปรเจคร่วมกับจังหวัดนากาโนะอันเป็นที่ตั้งของบริษัท มารุโคเมะ สำนักงานใหญ่
คุณยามาโมโตะอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า
“มารุโคเมะ เป็นบริษัทที่ก้าวเดินมาพร้อม ๆ กับจังหวัดนากาโนะนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการเมื่อค.ศ. 1854 หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าจังหวัดนากาโนะมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นจังหวัดสุขภาพแข็งแรงอายุยืนยาว ธีมอาหารหมักดองจึงดูจะเหมาะสมที่สุด รวมถึงนำมาซึ่งผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจสำหรับการจับมือร่วมกันทำงานระหว่างมารุโคเมะและจังหวัดนากาโนะ นอกจากนี้การทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลระดับจังหวัด ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าการจับมือร่วมกันทำงานในครั้งนี้ถือเป็นผลดีทั้งต่อจังหวัด ทั้งต่อบริษัทซึ่งเปิดทำการในจังหวัดนากาโนะมายาวนาน”
เมื่อคุณเฮตะถามว่า “ร้านนี้ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดในลักษณะใดบ้างครับ” คุณยามาโมโตะตอบทันทีว่า “ทางร้านจะรับสินค้าของจังหวัดนากาโนะเข้ามาวางจำหน่ายแบบหมุนเวียนสลับไปทุกเดือน และจัดทำโปรโมชั่นแนะนำสินค้าให้กับลูกค้าครับ” พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้รับสินค้าจากจังหวัดนากาโนะเข้ามาแล้ววางไว้เฉย ๆ นั่นเอง ขณะเดียวกันยังจัดทำโครงการ
สนับสนุนการเข้ามาลงทุน / เข้ามาค้าขายของกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กผู้มีความประสงค์ เช่น “อยากขยายธุรกิจมายังประเทศไทย” “อยากนำสินค้าของบริษัทตัวเองมาจำหน่ายในประเทศไทย” โดยผ่านการคัดกรองของจังหวัดนากาโนะและบริษัทมารุโคเมะ
คุณยามาโมโตะกล่าวด้วยว่าในการคัดเลือกสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทย ทางบริษัทผู้ผลิตสินค้าจะต้องยื่นเอกสารแสดงความจำนง เมื่อตรวจสอบแล้วว่าสินค้านั้นตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการจึงเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาสินค้าว่าจำหน่ายในประเทศไทยได้หรือไม่ รวมถึงเชิญตัวแทนผู้ประกอบการมาสัมภาษณ์และให้จังหวัดนากาโนะจะเป็นผู้ตัดสินอนุมัติ ประเด็นที่ว่าสินค้านั้น ๆ สามารถนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทยได้หรือไม่ นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมองจากมุมมองของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำงานอยู่ ณ ประเทศปลายทาง นอกจากนี้ คุณยามาโมโตะซึ่งทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้คำปรึกษายังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “เราจำเป็นต้องเชิญผู้ประกอบการที่มีความประสงค์แรงกล้า อยากเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาพูดคุยสอบถามโดยตรงในรายละเอียด อาทิ ‘ราคาจำหน่ายเท่านี้จะขายได้แน่ไหม ขายแล้วขาดทุนหรือไม่’ ‘ระดับความสนใจที่มีต่อการขยายกิจการสู่ต่างประเทศมีมากน้อยเพียงใด’ โดยพิจารณาการแข่งขันและสถานการณ์ตลาดในประเทศไทยประกอบ” ได้ฟังเช่นนี้แล้วคุณฮาเตะถึงกับเอ่ยขึ้นด้วยความชื่นชมว่า “นอกจากมีจังหวัดให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังแล้ว ยังได้บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์การงลงทุนในประเทศนั้น ๆ คอยช่วยเหลืออีกทาง แบบนี้ผู้ประกอบการย่อมรู้สึกอุ่นใจเมื่อก้าวเข้าสู่ตลาดสากลเป็นธรรมดา”
“สิ่งที่เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ตามงานแสดงสินค้าก็คือ บูธของหน่วยงานรัฐบาลกับบูธของผู้ประกอบการซึ่งหน่วยงานรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่แยกห่างจากกัน ทั้งที่ผมเห็นว่า ‘รวมอยู่ด้วยกันน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า’ จึงกลายเป็นที่มาของแนวคิดทำงานร่วมกันอย่างที่เห็นนี้ครับ”
เหตุผลที่เลือกเปิดคาเฟ่ในประเทศไทย
อีกหนึ่งธุรกิจที่มารุโคเมะลงทุนในประเทศไทยก็คือ คาเฟ่ โดยคุณยามาโมโตะได้พูดถึงต้นสายปลายเหตุของการกระโดดเข้าสู่ธุรกิจคาเฟ่ไว้ด้วยเช่นกัน
อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้นว่า แนวคิดอย่างเช่น มารุโคเมะ = เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น ค่อนข้างฝังรากลึกในความคิดของหลายคน กระทั่งบริษัทได้เปลี่ยนชื่อจาก “มารุโคเมะมิโซะ” มาเป็น “มารุโคเมะ” เมื่อค.ศ. 1990 พร้อมทั้งมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ในฐานะผู้ผลิต
ผลิตภัณฑ์อาหารแบบครบวงจร ซึ่ง ณ ปัจจุบันบริษัทสาขาในประเทศไทยจำหน่ายสินค้าหลากหลาย นอกจากเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นแล้วยังมีถั่วเหลืองผง เนื้อเจ และเหล้าหวาน เป็นต้น คุณยามาโมโตะจึงเกิดความคิดขึ้นว่า “อยากทำให้เหล้าหวานซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นติดตลาดไทยบ้าง” และพยายามค้นหาแนวทางแพร่เผยผลิตภัณฑ์เหล้าหวานให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย
“ช่วงระหว่างพิจารณาเรื่องการเปิดร้านค้า ผมคิดถึงการจำหน่ายเหล้าหวานในร้านแอนเทน่าขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก โดยคาดการณ์ราคาไว้ที่ประมาณขวด 1 ลิตร 199 บาท แต่หากจำหน่ายในราคาดังกล่าวก็จะเท่ากับเหล้าหวานหนึ่งขวดราคาเกือบ 1,000 เยน เมื่อเทียบกับราคาข้าวแกงข้างทางจานละ 30-40 บาท (100-130 เยนโดยประมาณ) แล้วถือว่าแพงมากทีเดียว ที่สำคัญคือหากลงทุนซื้อของราคาแพงขนาดนั้นไปแล้วชิมอึกเดียวไม่ถูกปากก็จะกลายเป็นเสียเงินเปล่าโดยปริยาย ผมจึงเกิดความคิดขึ้นว่าถ้ามีบริการทดลองดื่มเป็นถ้วยเพื่อเรียนรู้รสชาติก่อนน่าจะดีกว่าไหมนะ”
แค่วางสินค้าไว้ในร้านแอนเทน่า ไม่ช่วยให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ แก่สินค้า แต่หากรู้จักค้นหาแนวทางเพิ่มมูลค่าในแง่มุมที่ต่างออกไปเช่น “จะดีแค่ไหนหากได้ลองชิมเครื่องดื่มที่เรียกว่าเหล้าหวานในคาเฟ่” การดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาจ่ายเงินเพื่อลิ้มลองแม้ว่าสินค้านั้นจะมีราคาสูงอยู่สักหน่อยย่อมไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมถึง และที่สำคัญหากลูกค้าติดใจในรสชาติก็อาจเดินเข้าร้านแอนเทน่าเพื่อหาซื้อเหล้าหวานติดมือกลับบ้าน— ทั้งหมดนั้นคือแนวคิดอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดคาเฟ่
พฤติกรรมของคนไทยส่วนหนึ่งที่เคยพบเจอ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสู่การเริ่มกิจการคาเฟ่ “คนไทยจำนวนหนึ่งนิยมซื้อกาแฟหลังมื้ออาหารในราคาประมาณ 100 บาทจากคาเฟ่แฟรนไชน์ชั้นนำ โดยจ่ายให้กับอาหารมื้อกลางวันในราคาต่ำกว่านั้น ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า พวกเขาประเมินคุณค่าสิ่งของที่พวกเขาต้องการซื้อ จากรสนิยมความชื่นชอบ ความพึงพอใจ และจากกระแสนิยมในขณะนั้น บริษัทของเราจึงตัดสินใจนำเสนอ ‘เหล้าหวานในคาเฟ่’ เพื่อหยิบยกบรรยากาศและสถานที่เข้ามาเป็นตัวแปรในการสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ ให้แก่สินค้า”
ต้องยอมรับว่าไอเดียลักษณะนี้คงเกิดขึ้นได้ยากหากไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยและคลุกคลีกับคนไทยมานาน กระทั่งคุณฮาเตะเองยังชื่นชมว่า “เป็นแนวคิดที่เกิดจากการได้สนทนาสื่อสารกับกลุ่มบุคลลต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้บริโภคขนานแท้เลยนะครับเนี่ย”
การขายและซื้อสินค้าออนไลน์กำลังรุดหน้าเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงกลายเป็นที่มาของโอกาส
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความหวาดผวาให้กับคนไทยไม่น้อย ซึ่งคุณยามาโมโตะและคุณฮาเตะต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ประเทศไทยมีมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดยิ่งกว่าประเทศญี่ปุ่นมาก” ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวได้กลายเป็นเสมือนปัจจัยผลักดันให้มารุโคเมะขยายตลาดสู่การขายสินค้าออนไลน์ แน่นอนว่าเป็นใครก็คงคิดว่าลูกค้าหลักคงเป็นคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทว่าในความเป็นจริงคุณยามาโมโตะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ คนไทยครับ ส่วนสินค้าขายดีต้องยกให้เหล้าหวานซึ่งปกติจะวางจำหน่ายแค่เฉพาะร้านแอนเทน่าและซุปเปอร์มาร์เก็ตเครือบริษัทญี่ปุ่น พอมีขายทางออนไลน์ คนก็เลยสนใจกดสั่งซื้อกันเข้ามาเยอะทีเดียว เพราะสะดวกไม่ต้องไปเดินหาให้เสียเวลา” ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสภาพแวดล้อมปัจจุบันกลายเป็นตัวผลักดันให้การขายสินค้าออนไลน์เติบโต โดยคุณยามาโมโตะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า “การทำงานของบริษัทขนส่งมีส่วนอย่างมากกับการเติบโตนี้” ทว่าปัญหาที่เกิดตามมาบ่อยครั้งจากการเลือกใช้บริการบริษัทขนส่งราคาถูกก็คือ สินค้าแตกเสียหายระหว่างขั้นตอนขนส่ง จนเป็นเหตุให้ถูกลูกค้าต่อว่าบ้างละ ต้องส่งสินค้าใหม่ไปให้ลูกค้าบ้างละ จึงกล่าวได้ว่าแค่ความพยายามของบริษัทมารุโคเมะอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับการลุยตลาดออนไลน์ ความเป็นมืออาชีพและเอาใจใส่ในการทำงานของผู้ให้บริการด้านการขนส่งก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเช่นกัน
มารุโคเมะเลือกใช้เฟซบุ๊คเป็นแพลตฟอร์มหลักเพื่อผลักดันธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย ปัจจุบันเฟซบุ๊คแฟนเพจ Marukome (Thailand) ซึ่งโพสต์ข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าอยางสม่ำเสมอมีผู้ติดตาม
มากกว่า 100,000 คน “การกระตุ้นยอดขายโดยใช้โซเชียลมีเดียนี้มีส่วนเชื่อมโยงถึงการขายสินค้าออนไลน์โดยตรง เพราะคนที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์หรือคนที่เห็นโฆษณาในเฟซบุ๊คสามารถคลิกต่อไปยังโฮมเพจของร้านและกดคำสั่งซื้อสินค้าได้ทันที ต่างจากการดูโฆษณาแล้วเดินทางไปซื้อสินค้าที่ร้านแบบลิบลับ ช่วยทลายกำแพงอุปสรรคในการจับจ่ายซื้อสินค้าลงได้เป็นอย่างดี” คุณยามาโมโตะกล่าวและวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินอยู่ไปอีกนานทีเดียว
เมื่อคุณฮาเตะตั้งคำถามว่า “ผลสำเร็จนับตั้งแต่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและแผนการต่อจากนี้มีอะไรบ้างครับ” คำแรกที่คุณยามาโมโตะกล่าวก็คือ “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดี และจากนี้ปัจจัยหลายอย่างก็คงเอื้อต่อการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้นครับ”
“อันที่จริงคำว่า คนไทยส่วนหนึ่งนิยมใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งที่ตนพึงพอใจ น่าจะเป็นเสมือนหลักฐานแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเติบโต และเพราะเศรษฐกิจเติบโตนี่แหละอัตราการบริโภคจึงเพิ่มต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อคุณมาลงทุนทำธุรกิจที่ประเทศไทยแล้วจะเห็นผลกำไรในทันที สิ่งที่ทุกคนต้องมีก็คือความพยายาม ข้อดีอย่างหนึ่งของประเทศไทยคือคุณมีอิสระมากกว่าในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นหากมีความพยายามเป็นที่ตั้ง โอกาสที่ยอดขายจะเพิ่มสูงขึ้นย่อมเกิดตามมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีมากครับ ถ้าเป็นช่วงก่อนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดละก็ ผมกล้าพูดเต็มปากเลยว่าที่นี่คือสรวงสวรรค์ที่แนะนำสำหรับนักลงทุนต่างชาติมือใหม่ แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ กฎข้อบังคับสารพันโดยรัฐบาลถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวดเสียยิ่งกว่าที่ประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งเกิดเรื่องซึ่งคนญี่ปุ่นหลายคนอาจจินตนาการไม่ถึงขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม หากจับทิศทางของประเทศไทยได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรเกินกว่าเหตุในเรื่องการขยายธุรกิจและการลงทุน”
ส่วนประเด็นด้านการขยายตลาดในอนาคต ยังตอบได้แค่ว่า “ณ เวลานี้ยังไม่มีแผนการแน่ชัดว่าจะขยายฐานเพิ่มขึ้นหรือไม่” แต่ที่แน่ ๆ คือจากนี้จะยังคงพยายามต่อไปเพื่อให้ธุรกิจทางด้านการนำเข้า-ส่งออก การค้าปลีก ร้านแอนเทน่า คาเฟ่ รวมถึงการขายสินค้าออนไลน์เติบโตต่อเนื่องยิ่งขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่
ในช่วงสุดท้ายของการสนทนา คุณยามาโมโตะฝากคำแนะนำถึงผู้ที่กำลังวางแผนขยายสาขามาสู่ประเทศไทยว่า “ประเทศไทยมีกฎระเบียบยิบย่อยในหลายเรื่องก็จริง แต่ผมเชื่อว่าที่นี่เป็นเมืองที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้แสวงหาความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวัน วันละหลายเวลา ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะบริษัทหรืออยู่ในฐานะผู้ประกอบการรายบุคคล ขอเพียงคุณสามารถทำตัวให้สนุกไปกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและรู้จักนำมันมาประยุกต์ใช้เป็นอาวุธ คุณจะเข้าใจว่าการทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นเรื่องสนุกท้าทาย แค่คุณพร้อมปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง รับมือและนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไขว่คว้า”