เราควรปรับตัวอย่างไร? ในยุค Digital Disruption
งาน ICHI LIVE ถูกจัดขึ้นในธีม “Digital, Innovation and Leadership”
ได้รับเกียรติจากผู้บริหารและผู้นำเทรนด์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน มาร่วมถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล
ซึ่งใน session 2 “Digital x Trend” ของงาน ICHI LIVE คุณโสภา พิมพ์สิริพานิชย์ (โซอี้) ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดของธุรกิจในยุคนี้ เร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล พร้อมสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจในอนาคต
คุณโซอี้ ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ หลายคนรู้จักเธอในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล ในบทบาทของเทรนเนอร์ เป็นคนแรกที่สอบได้ Line Certified Coach และได้รับรางวัลจากบริษัทไลน์ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน เช่น รางวัล Best Coach,
Best Performance, Line Idol, Popular Coach และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล Lazada Expert จากการแต่งตั้งของบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย และเป็น Tiktok Ambassador รวมถึง Shopee GURU ด้วย เป็นผู้บรรยายให้กับภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ คุณโซอี้เดินสายไปบรรยายมาแล้วกว่า 44 จังหวัด นอกเหนือจากอาชีพทางดิจิทัลแล้ว เธอยังทำธุรกิจโรงงานผลิตครีมในชื่อ SCL Innovation นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจผ้าพันคอนวัตกรรม และทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานอีกด้วย
ข้อดีของการทำหลายธุรกิจ คือ เมื่อพบเจอกับวิกฤต เราจะยังสามารถอยู่รอดได้ เช่น ตอนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ธุรกิจหอพักของคุณโซอี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หรือตอนนี้ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 บางธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจอื่น ๆ ก็ยังอยู่ได้ แน่นอนว่าการทำงานหลายอย่างเช่นนี้ เทคโนโลยีมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก อย่างเช่นตอนนี้บริษัทมีนโยบายการทำงานแบบpaperless ใช้แอพพลิเคชันสแกนเนอร์ในมือถือ เพื่อสแกนส่งไฟล์ให้กับลูกค้า หรือในส่วนของธุรกิจหอพัก อพาร์ทเมนต์ ที่ส่งบิลค่าใช้จ่ายผ่าน Line Official Account ของหอพัก แล้วให้โอนเงินเข้ามายังบัญชีของเราโดยตรง ทำให้สามารถเก็บเงินได้อย่างไม่ตกหล่น
ด้านการสื่อสารในองค์กร บริษัทของคุณโซอี้ใช้แอพพลิเคชันที่ชื่อว่า “เทรลโล” โดยใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว
ซึ่งเทรลโล มีฟังก์ชันในการจัดเก็บข้อมูล ลิงก์ไฟล์ หรือโฮสต์โฟลเดอร์หรือข้อมูล และยังสามารถติดตามความคืบหน้าของงานได้ว่าตอนนี้งานคืบหน้าไปถึงไหน ใครกำลังทำอยู่ และเป็นแอพพลิเคชันที่ยูสเซอร์เฟรนด์ลี่ ใช้งานง่าย แม้ว่าในปัจจุบันหลายคนอาจจะใช้ไลน์แชตในการสื่อสาร แต่การใช้ไลน์บางครั้งอาจทำให้ข้อมูลรั่วไหล และเนื่องจากเนื้อหางานของบริษัทมีงานหลายรายการต้องแจกจ่ายให้ผู้รับผิดชอบแต่ละคน แอพพลิเคชันเทรลโลจึงตอบโจทย์เป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน Digital เข้ามา disrupt การใช้ชีวิตและการทำงานในหลายภาคส่วน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเดี๋ยวก่อนก็ได้เพราะยังสามารถทำมาหากินได้ จนกระทั่งเจอกับ Covid Disruption ที่เป็นตัวเร่งทำให้เราเห็นโลกในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกคนที่กำลังพยายามปรับตัวให้อยู่รอด สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้ เราควรมองเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นคือ Lazy Consumer หรือตลาดคนขี้เกียจ พฤติกรรมของคนจะเปลี่ยนไปเนื่องจากมีเทคโนโลยีต่าง ๆ รายล้อม เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจก็จะเกิดการปรับตัว แต่ธุรกิจที่ปรับไม่ได้หรือปรับได้ยาก คือ ธุรกิจในเครือท่องเที่ยว เช่น ทัวร์ โรงแรม และธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสเยอะ เช่น สปา ซาวน่า ร้านเสริมสวย แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเริ่มศึกษาการตลาดออนไลน์ ตอนนี้ก็มีการนำสินค้าในร้านเสริมสวย หรือบิวตี้คลินิก สปามาขายทางออนไลน์ ส่วนธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว คือ ธุรกิจอาหาร ซึ่งปัจจุบันก็ผันตัวทำเดลิเวอรี่กันหมดแล้ว สำหรับใครที่ไม่เข้าแพลตฟอร์มก็จะขายได้ยาก แต่ถึงแม้จะมีการปรับตัวได้ดี ก็ยังมีบางส่วนที่มีผลกระทบเยอะมาก ก็คือร้านที่ขายบรรยากาศ ขายประสบการณ์ โจทย์ที่ยากคือการทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์เสมือนกับนั่งที่ร้านในขณะที่ต้องสั่งไปกินที่บ้าน เป็นต้น แต่ทางด้านอีเวนท์ ออแกไนเซอร์ก็เปลี่ยนมาจัดผ่านทางออนไลน์ ส่วนธุรกิจที่มีการปรับตัวแต่ยังไม่ค่อยดีก็คือ การซื้อขายของทางออนไลน์ เนื่องจากยังไม่ได้เป็นอีคอมเมิร์ช 100% ในประเทศไทยจะเน้นไปทางแชตหรือโซเชียลคอมเมิร์ช คือการเข้าไปดูสินค้าแล้วนำมาสั่งทางไลน์ ทำให้ยังมีรอยต่อของวงจรการซื้อขายของทางออนไลน์ เช่น ระบบการจ่ายเงิน เป็นต้น ในฐานะผู้ประกอบการการที่จะทำระบบดิจิทัลให้ล้ำเกินหน้าผู้บริโภคมากก็ไม่ได้ ต้องรอความพร้อมของลูกค้าด้วยเช่นกัน
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี จะไม่พูดถึงประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ พอพูดถึงเทคโนโลยีญี่ปุ่นสิ่งแรกที่คิดขึ้นมาก็คือ Automotive ซึ่งในประเทศไทยก็มีรถญี่ปุ่นอยู่มากมาย อีกอย่างหนึ่ง คือ เครื่องสั่งอาหาร เวลาที่ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นจะเจอเครื่องที่ใช้สั่งอาหาร
โดยไม่ต้องมีพนักงานวางอยู่ในหลาย ๆ ร้าน แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เครื่องนี้ก็มีส่วนช่วยให้ร้านประหยัดพนักงานได้เยอะพอสมควร ซึ่งในประเทศไทยก็มีการใช้เครื่องสั่งอาหารเช่นนี้เหมือนกัน แต่ UI UX ยังไม่ดีเท่าที่ควรเลยยังต้องมีพนักงานมาคอยให้คำแนะนำ อีกอย่างหนึ่งที่นึกถึงก็คือบัตร Suica เพราะเวลาไปเที่ยวมีแค่บัตรเดียวก็ใช้เดินทางไปได้ทุกที่รวมถึงการชอปปิ้งด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจในการเข้าไปใน Digital Age คือ ทักษะของคน แต่ก่อนเคยคิดว่าเป็นเรื่องความคิด แต่ในปัจจุบันเมื่อทุกคนรู้แล้วว่าโลกเกิดความเปลี่ยนแปลง หากไม่ปรับตัวเอง โลกก็จะช่วยปรับเราเอง แม้ว่าความคิดจะสำคัญ แต่ทักษะก็สำคัญเช่นกัน เพราะในอนาคตเทคโนโลยีต่าง ๆ จะเข้ามาแทนที่คน เมืองไทยเองก็น่าเป็นห่วงในเรื่องของแรงงาน เพราะเครื่องจักรจะเข้ามาทำงานแทนงานที่เป็นการทำซ้ำ ๆ เช่น การรดน้ำ พรวนดิน หยอดเมล็ดพันธุ์ แน่นอนว่ายังคงมีการใช้คนแต่จะลดน้อยลง รวมถึงคนหนึ่งคนอาจจะต้องทำได้หลายอย่าง เราจึงต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
**หากท่านต้องการรับชม ICHI LIVE ในพาร์ทของคุณโสภา พิมพ์สิริพานิชย์ (โซอี้) ย้อนหลัง กรุณาลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI แล้วกดเลือกวิดีโอที่ต้องการดูได้ใน Community Zone