ความฝันของ “Zipevent” ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีเวนต์ออนไลน์แห่งแรกในไทย
รายการใหม่ “ICHI TALK” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความหลงใหลในธุรกิจ
ผู้ดำเนินรายการ: รายการ ICHI TALK วันนี้ เราพาไปพบกับผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ผู้ประสบความสำเร็จในการสานฝันแนวคิด คุณเจ ภาโรจน์ เด่นสกุล CEO และ Co-founder แห่ง Zipevent Co., Ltd. เจ้าของแพลตฟอร์ม Zipevent ครับ คุณเจมีความฝันตั้งแต่เด็กเลยหรือไม่ครับ ว่าโตขึ้นอยากทำอาชีพอะไร แล้วอะไรคือเป้าหมายในชีวิต
คุณเจ: ตั้งแต่เด็กก็คิดอยากทำบริษัทของตัวเอง สมัยเรียนก็คอยมองหาลู่ทางว่ามีช่องทางไหนที่เราจะเป็นเจ้าของกิจการเองได้บ้าง ประกอบกับตอนเด็กคุณพ่อคุณแม่ชอบพาไปงานอีเว้นต์ ซึ่งความน่าสนใจของอีเว้นต์ คือ การดึงดูดผู้คนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันมารวมตัวกัน ซึ่งภายในงานก็จะมีเกมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าไปร่วมสนุกได้ เมื่อโตขึ้นก็ได้เห็นว่ามีงานอีเว้นต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย และโดยส่วนตัวก็ชอบไป เรียกว่ามี passion ทั้งในด้านการทำธุรกิจและอีเว้นต์ทั้งคู่เลย
ผู้ดำเนินรายการ: ในช่วงวัยเด็กหลายคนยังสนุกกับการเล่นตามวัย แต่คุณเจมีแนวคิดที่อยากจะเป็นนักธุรกิจแล้วเหรอครับ
คุณเจ: ใช่ครับ ตั้งแต่ตอนเด็กก็พยายามค้นหาสิ่งใหม่ ๆ และมีความสนใจในด้านการลงทุน จึงมีความสนใจว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีธุรกิจของตัวเองได้โดยให้เงินทำงาน หรือเป็นผู้ประกอบการแล้วใช้ทรัพยากร เช่น พนักงาน เพื่อเข้ามาช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้เงินจากรายได้ในส่วนนี้มาต่อยอดธุรกิจได้ต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ: ตอนเด็ก ๆ มีโอกาสได้ทดลองค้าขายไหมครับ
คุณเจ: ครับ จริง ๆ ผมเป็นคนชอบเล่นเกม ก็จะมีการซื้อขายไอเท็มในเกมบ้างครับ
ผู้ดำเนินรายการ: มีอุปสรรคอะไรไหมในการเป็นนักธุรกิจที่มีอายุและประสบการณ์น้อย
คุณเจ: อุปสรรคสำคัญเลย คือ ตอนเด็ก ๆ ความรู้และประสบการณ์ยังไม่เยอะ จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่เรามีสร้างผลตอบแทนกลับมาได้ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำตอนเด็กก็จะจบลงไปตอนนั้น เพราะไม่ได้มีการต่อยอด แต่ก็เป็นประสบการณ์และจุดเรียนรู้ที่ดีที่สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจปัจจุบัน หรือ Zipevent ได้
ผู้ดำเนินรายการ: เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เหตุผลที่ตัดสินใจเรียนวิศวกรรมอุตสาหการ คืออะไร
คุณเจ: สิ่งหนึ่งคือผมเป็นคนชอบวิศวะ ชอบการคำนวณ และชอบการบริหาร จากที่เรามี passion มาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ และคิดว่าวิศวอุตสาหการเป็นศาสตร์ที่ผนวกทั้งสองศาสตร์ของวิศวะกับการบริหารจัดการเข้าด้วยกัน แล้วก็อีกส่วนที่น่าสนใจ คือ อุตสาหการพยายามที่จะเน้นเรื่องการทำ optimization, process และการทำ improvement ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการช่วยให้ธุรกิจก้าวต่อไป และสามารถก้าวผ่านอุปสรรค หากเราเจอสถานการณ์ที่ไม่ดีแล้วสามารถปรับตัวก็จะทำให้บริษัทสามารถเดินต่อได้
ผู้ดำเนินรายการ: หลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นพนักงานที่บริษัทไหนไหม หรือว่าโดดเข้าสู่วงการอีเว้นต์เลยครับ
คุณเจ: ผมทำงานที่ SCG เป็นที่แรก ในตำแหน่งวิศวกรที่ดูแลเรื่องไอที เหมือนเราก็ได้ประสานงานในเรื่องของการทำโปรเจ็คต่าง ๆ ใน SCG เช่น ระบบในการจัดการการขนส่ง ระบบในการทำการพัฒนา ต่าง ๆ ตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่าการใช้ไอทีสามารถเข้ามาพัฒนาการระบบการทำงานของธุรกิจได้ ช่วยในการรีเทิร์นกลับมาเป็นตัวเลขของรายรับ หรือการพัฒนาในเรื่องของความพึงพอใจของลูกค้าได้จริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ 4 ปี รึเปล่าครับ
คุณเจ: ใช่ครับ ทำงานทั้งหมด 4 ปี พอถึงช่วงที่เข้าสู่ปีที่ 4 ของการทำงาน ก็เริ่มรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ไปเข้าโครงการสตาร์ทอัพ เริ่มเอาไอเดียที่เกี่ยวกับอีเว้นต์มาทำเป็นแพลตฟอร์ม ในการทำและจัดการอีเว้นต์
ผู้ดำเนินรายการ: คุณเจมีหลักการอย่างไรในการเลือกคนทำเข้ามาทำงานที่ตัวเองฝันไว้ตั้งแต่เด็ก
คุณเจ: Co-founder ของผมในตอนแรกที่มีนั้นเราเติมเต็มทุกด้านซึ่งกันและกัน ตัวผมจะถนัดเรื่องธุรกิจ มีความรู้เรื่องวิศวะกับการเขียนโปรแกรมเล็กน้อย แต่พาร์ทเนอร์ของเราที่เลือกมาตอนแรกก็จะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาด ก็คือ การพัฒนาโปรแกรมหรือการ coding ซึ่งหลักการในการเลือกพาร์ทเนอร์คือ มาเติมเต็มซึ่งกันและกัน และเป็นคนที่พร้อมที่จะบุกน้ำลุยไฟไปพร้อม
กับเรา เพราะหากเขาออกไปกลางคัน หรือว่าเราเจออุปสรรค เข้าต้องพร้อมที่จะลุยกับเรา และมี passion ในสิ่งที่กำลังทำอยู่จริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: หา passion ยังไง แล้วนำมาใช้เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจได้อย่างไรบ้าง
คุณเจ: เราต้องหาสิ่งที่เราสนุกและสามารถทำได้โดยไม่เบื่อ ซึ่งโดยส่วนตัวคือ การไปอีเว้นต์ แต่ว่าจะเปลี่ยน passion ตรงนี้มาเป็นธุรกิจอย่างไรนั้นคือสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะถึงเราจะรู้วามี passion แต่เป็นสิ่งที่ไม่ถนัด หรือไม่สามารถหารายได้จากมันได้ เหล่านี้ก็จะเป็น passion ที่ทำให้เกิดธุรกิจจริงไม่ได้ ซึ่งต้องประกอบจาก passion และโมเดลธุรกิจที่เกิดจาก passion นั้น ๆ ได้
ผู้ดำเนินรายการ: หลายคนกล่าวว่าสตาร์ทอัพเกิดจากการที่เราสามารถหา pain point ได้เจอ และ pain point นั้นจะต้องดี และมีคุณสมบัติมากเพียงพอที่จะกลายมาเป็นธุรกิจ มั่นใจไหมครับว่า pain point ในแวดวงต่าง ๆ มากพอและทำให้กลายมาเป็น Zipevent ได้
คุณเจ: จากตอนแรกก็ไม่ค่อยมั่นใจนะครับ เราเริ่มจาก pain point ของฝั่งคนไปงานก่อน ในแง่ของการทำอีเวนต์มีหลายส่วน คนจัดงาน คนไปงาน ผู้ประกอบการที่ออกบู๊ท ในตอนนั้นยังไม่มีเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่จะรวมอีเว้นท์ที่มันครบถ้วน เราก็เลยสร้าง Zipevent จากตรงนั้นว่า เราอยากจะเป็นที่ที่รวมอีเว้นต์ที่ครบถ้วนที่สุด จากนั้นจึงต่อยอดไปยัง pain point ของคนจัดงาน ทำอย่างไรจึงจะโปรโมทได้ตรงขึ้น การเก็บข้อมูลลงทะเบียน หรือทำอย่างไรจึงจะขายบัตรได้ไวขึ้น แล้วก็ process ให้คนเหล่านั้นเข้างานของเขาได้เร็วที่สุด เราจึงได้เรียนรู้ว่าในอุตสาหกรรมอีเว้นท์ มี pain point ที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดอีกเยอะแยะมากมาย ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการสามารถเข้าไปช่วยพัฒนาส่วนนั้นได้
ผู้ดำเนินรายการ: การเข้าไปชมงานผ่านทาง Zipevent ทุกอย่างสะดวกง่ายดายหมดเลยครับ แก้ทุก pain point ได้หมดเลยไหมครับ
คุณเจ: ก็อาจจะยังไม่ขนาดนั้น แต่ว่าก็พยายามจะศึกษาลูกค้า โดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางว่าจะทำอย่างไรให้เขาสามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด และเนื่องจากอีเว้นต์มีผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ จึงต้องการที่จะออกแบบตัวแพลตฟอร์มหรือการใช้งานให้ง่ายที่สุด ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ผู้ดำเนินรายการ: พอมาเป็นสตาร์ทอัพ หลายคนบอกว่าโอกาสสำเร็จนั้นมีน้อยนิด และมีโอกาสล้มเหลวสูง แต่ว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จก็มักจะผ่านความล้มเหลวมาเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าคุณเจไม่ได้เชื่อแบบนั้น เรามีความเชื่อที่แตกต่าง แตกต่างอย่างไรครับ
คุณเจ: หลายสตาร์ทอัพที่ทุกคนเห็นอาจจะเน้นเรื่องระดมทุน เน้นให้มีการสร้างฐาน user เยอะ ๆ แต่ตอนที่เราเริ่มเราต้องการเน้นเรื่องพื้นฐานของการทำธุรกิจ ซึ่งก็คือ กระแสเงินสด รายได้ และกำไรของการทำธุรกิจ เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเรามี user จำนวนมหาศาล แต่ว่าธุรกิจไม่สามารถเติบโตหรือดำเนินเองได้ด้วยกำไรหรือด้วยรายได้จากลูกค้า ซึ่งตรงนี้มันจะไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราเลยโฟกัสในการทำฐานรากของบริษัทให้แข็งแรงก่อน พอเราแข็งแรง มีสินค้า มีลูกค้าที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เราจึงค่อยเน้นในการขยายเติบโตออกไป
ผู้ดำเนินรายการ: เรียกได้ว่าโตช้าแต่มั่นคง และสร้างความมั่นใจทำให้สามารถระดมทุนได้ เพราะเกิดความน่าเชื่อถือเกิดขึ้น ในจุดของการเป็น Zipevent เข้าใจว่าช่วงเวลาที่ตัดสินใจทำ อาจจะยังไม่มีผู้เล่นเจ้าอื่น Zipevent น่าจะมาแรก ๆ เลยของเมืองไทยหลังจากเปิดตัวผลการตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
คุณเจ: ต้องบอกว่าตอนแรก ๆ ตอนที่เราทำช่วงปี 2014 ยังค่อนข้างใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีแง่ของอุตสาหกรรมอีเว้นต์ก็ยังค่อนข้างใหม่มาก ในตอนแรกก็มีอุปสรรคเยอะเหมือนกันในการเข้าไปบอกเล่าถึงสินค้า และเราช่วยอะไรเค้าได้ ซึ่งในตอนเริ่มก็ลำบากมากเพราะลูกค้ามองไม่เห็นภาพว่าระบบตรงนี้จะมาช่วยอะไรเค้าได้ อีกอย่างก็คือยังไม่มีใครทำมาก่อน เราเลยแก้ปัญหาด้วยการใช้ลูกค้าทดลองใช้เลย โดยมีงานแรกที่เป็นงานใหญ่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ใช้บริการเรา เราก็ให้ทดลองใช้ เก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเก็บข้อมูล feed back ของลูกค้าหรือผู้จัดการ เพื่อนำมาพัฒนาต่อ และพอเริ่มมี portfolio เราก็เริ่มมีงานที่ใหญ่ขึ้น และก็มีลูกค้าที่เริ่มจ่ายเงินเราจริง ๆ
ผู้ดำเนินรายการ: การปรับตัวของ Zipevent ตั้งแต่ปี 2014 จนมาถึงปัจจุบันก็คงผ่านร้อนผ่านหนาว และอะไรหลาย ๆ อย่าง เคยเจอปัญหาที่หนักและต้องปรับตัวเยอะมากบ้างไหมครับ แล้วแก้ไขกันอย่างไร
คุณเจ: ที่หนักล่าสุดก็คือ โควิด-19 ที่ผู้ประกอบการทุกคนคงจะเจอในปี 2020 นี่เอง เนื่องจากว่าเราทำระบบที่อยู่ในอุตสาหกรรมอีเว้นต์ แล้วพอมีโควิดทำให้อีเว้นต์ไม่สามารถจัดได้ คนไม่สามารถรวมตัวกันได้ แปลว่าอีเว้นท์ที่เกิดขึ้นเป็นพันเป็นหมื่นต่อปีก็หายไปหมด ในตอนแรกที่เราทำคือ solution ของงานอีเว้นต์แบบ offline เราก็เลยปรับตัวอย่างใหญ่หลวง โดย re-skill ทั้งพนักงาน ทำสินค้าขึ้นมาที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการออนไลน์ และ virtual event ซึ่งตัวนี้ตอบโจทย์กับทางอุตสาหกรรมทั้งในฝั่งของผู้จัดงานก็ดี หรือว่าเจ้าของงานต่าง ๆ ก็พยายามปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน
ผู้ดำเนินรายการ: อีเว้นที่เป็น offline เปลี่ยนวิถีใหม่เป็น New Normal นั่นแสดงว่าเราสามารถไปงานอีเว้นต์ต่าง ๆ ได้ทาง online แบบที่เราคุยกันแบบนี้ก็ได้รึเปล่าครับ
คุณเจ: ใช่ครับ แน่นอนเลยครับ การทำ online หรือ virtual มันมีข้อดีอยู่เยอะมากก็คือ จากเดิมในการจัดงาน จะมีคนมาร่วมงานจำกัดด้วยพื้นที่ของสถานที่จัดงานเอง สองคือเรื่องเวลา ที่จะต้องมางานในช่วงเวลาที่เปิดเท่านั้น รวมถึงเรื่องการเดินทางด้วย แต่เมื่อทุกอย่างย้ายมาอยู่บน virtual หรือ online ข้อดีคือผู้ที่สนในสามารถเข้างานได้จากทุกที่ทุกเวลา จะอยู่ต่างประเทศหรือเข้าชมงานตอนกลางคืนก็สามารถทำได้ ในฝั่งของผู้จัดงาน แน่นอนว่าในปกติคือคนมาเดินในงานเราไม่รู้เลยว่าเขาเดินไปคุยกับใคร หรือไปดูสินค้าใดบ้าง แต่เมื่อทุกอย่างอยู่บนออนไลน์เราสามารถติดตามและรู้ข้อมูลทุกอย่างได้เลยว่า ตอนนี้ลูกค้าสนใจบริษัทไหนมากที่สุด แล้วก็ดูสินค้าใดมากที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้จัด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์และพัฒนางานตัวเองต่อ
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัด ๆ อย่างที่เรากำลังคุยกันในรายการ ICHI TALK เนี่ย ภายใต้การบริหารจัดการของ JRIT ICHI นี่ก็คือวิธีหนึ่งใช่ไหมครับ อยากจะให้คุณเจช่วยเล่ากระบวนการต่าง ๆ ให้เราฟังหน่อยครับ
คุณเจ: อย่างในงานของ JRIT ICHI เรามีโซนต่าง ๆ มากมาย อย่างเช่น Webinar Zone และ Exhibition Zone ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็น ในหลังบ้านก็มีการตระเตรียมข้อมูลในการจัดเตรียมระบบต่าง ๆ ก็ใช้เวลาพอควร และส่วนนี้ผมคิดว่ามันมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ภายในงาน เหมือนกับเวลาที่เราไปงานจริง ๆ เลย แต่ว่าเราจำลองขึ้นมาอยู่บน virtual เท่านั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ: ทราบมาว่ามีแนวคิดหนึ่งชื่อว่า “First time founder ,Lifelong learner” ประโยคนี้สะท้อนอะไรบ้าง แล้วหลาย ๆ ท่านที่กำลังเป็นผู้ประกอบการอยากจะใช้แนวทางอย่างนี้ได้หรือไม่ คิดเห็นอย่างไรครับ
คุณเจ: สำหรับผู้ประกอบการทุกท่านที่มีความต้องการที่จะเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองตลอด ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ต้องพยายามที่จะปรับตัว คิด และก็ผลักดันตัวเองอยู่เสมอ เพราะทักษะที่เรามีในปีที่แล้ว ปีหน้ามันอาจจะไม่ได้ใช้งานเยอะเท่าไรก็ได้ เช่น ทีมของตนที่ทำงานอีเว้นต์ offline มาตลอด แต่พอย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บน online ก็ไม่มีใครเคยทำการ live streaming การใช้ระบบต่าง ๆ ที่อยู่บน online ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ประกอบการต้องมี เพราะในอนาคตเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคม หรือโรคระบาด เราจะเรียนรู้และปรับตัวอย่างไรเพื่อพาให้ธุรกิจอยู่รอดได้
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือการใช้ชีวิต ผู้ที่ดิ้นรนและปรับตัวเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ไปต่อ จริงไหมครับ
คุณเจ: ถูกต้องที่สุดเลยครับ
ผู้ดำเนินรายการ: Zipevent กำลังขยับขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ได้ยินว่าจะขยายไปยังต่างประเทศด้วย แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม
คุณเจ: ใช่ครับ นอกจากลูกค้าที่อยู่ในไทยก็เริ่มมีลูกค้าประเทศอื่นเข้ามาใช้บริการด้วย เช่น สิงคโปร์ อินเดีย อเมริกา เป็นต้น ซึ่งพอแพลตฟอร์มเราอยู่บนออนไลน์ มันไม่มีอุปสรรคทางเรื่องการเดินทาง หรือภาษา หรือเวลา ลูกค้าสามารถใช้แพลตฟอร์มเราในการจัดงานได้จากต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีที่ทำให้เราสามารถขยายไปยังต่างประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม
ผู้ดำเนินรายการ: สังเกตนะครับว่าเป็นแพลตฟอร์มไม่ใช่แอปพลิเคชัน เพราะถ้าเป็นแอปพลิเคชันจะได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเป็นแพลตฟอร์มก็ world wide ได้เลยทีเดียว ในทีม Zipevent มีคนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัยไหมครับ
คุณเจ: อันที่จริงอายุของผมก็น่าจะเยอะที่สุดในบริษัท ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจบใหม่ หรือมีประสบการณ์ไม่เกิน 4-5 ปีครับ เรียกว่าเป็นรุ่น young generation ที่มาทำงานในบริษัท
ผู้ดำเนินรายการ: ข้อดีที่มีคนหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในสถานการณ์ที่อาศัยความทันสมัย คืออะไรครับ
คุณเจ: ข้อดีของคน gen นี้คือ เรียนรู้เร็ว เพราะเป็นยุคที่เติบโตมาพร้อมกับมือถือ คอมพิวเตอร์ google เมื่ออยากรู้อะไรก็สามารถหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง พัฒนาตัวเองได้ดี อีกส่วนที่น่าสนใจคือเวลาทำงานอะไรจะพยายามทำให้สำเร็จและเรียบร้อยจริง ๆ เป็นคุณสมบัติของคนรุ่นใหม่ที่เวลาเค้าอินอะไรจะทุ่มสุดตัวและทำอย่างเต็มที่
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าเกิดใครมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน แล้วเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น ร่วมพูดคุย ก็น่าจะเป็นข้อดีขององค์กรเลยนะครับ
คุณเจ: ใช่ครับ ผมพยายามจะให้แต่ละทีมมีบทบาท มีความคิดเห็นของตัวเองได้ อยากจะเสนอหรือปรับปรุงตัวระบบหรือการทำงาน เรายินดีเปิดรับทั้งหมด จริงมีคำญี่ปุ่นคำหนึ่งที่ผมชอบคือคำว่า “ไคเซน” คือเราพยายามให้เกิดการปรับปรุงสิ่งเล็ก ๆ ทุกส่วน และทุกคน เราให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมที่จะช่วยในการพัฒนาแต่ละส่วนให้ดีขึ้นทุกวัน
ผู้ดำเนินรายการ: คุณเจพึงพอใจในธุรกิจ Zipevent ในระดับใด และตั้งเป้าหมายในอนาคตเอาไว้อย่างไรบ้าง
คุณเจ: ตอนนี้ก็ค่อนข้างพอใจ เราก็เติบโตมาในระดับหนึ่ง มีฐานผู้ใช้งานค่อนข้างที่ใช้งานเราอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตคิดว่าจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศนอกเหนือจากลูกค้าในประเทศไทย รวมถึงขยายบริการและสินค้าให้ครอบคลุมการใช้งานในอุตสาหกรรมอีเว้นต์ให้มากขึ้น
ผู้ดำเนินรายการ: รบกวนคุณเจให้กำลังผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ รวมไปถึงผู้ประกอบการ SME องค์กรต่าง ๆ ว่าเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดและไปได้ดี
คุณเจ: ตอนนี้ผมคิดว่ากำลังใจสำคัญที่สุด ก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวผ่านสถานการณ์ในตอนนี้ไปได้ อีกสิ่งคือ ต้องพยายามปรับตัว เรียนรู้ในสิ่งใหม่ สำรวจว่าในอนาคตบริษัทเรายังขาดอะไรอยู่แล้วเราจะก้าวไปยังไง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น อย่างที่บอกว่ากำลังใจต้องเติมเต็มเสมอ รวมไปถึง passion อย่าลืมสื่อสารกับลูกทีมหรือพนักงานในบริษัทให้มีความเชื่อ หรือว่ามี passion ให้รู้ว่าบริษัทนี้เราทำเพื่ออะไร เราเกิดมาเพื่ออะไร แล้วอยู่ไปเพื่ออะไร
※ผู้สนใจชมรายการ ICHI TALK ในตอนของคุณภีม เพชรเกตุ สามารถลงทะเบียนเข้างาน JRIT ICHI เพื่อเข้าชมย้อนหลังได้ใน Community Zone